"ร่างพรบ.สุราก้าวหน้า" ตลาดผูกขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

"ร่างพรบ.สุราก้าวหน้า" ตลาดผูกขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มที่เป็นของมึนเมา ผู้ฟังก็มักจะนึกถึงเครื่องดื่มอันเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุหรือการก่ออาชญากรรม ภายใต้มโนทัศน์ของการตกเป็นจำเลยสังคมของ “สุรา” ตามความหมายของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

แต่ในทางกลับกัน หากพูดถึงมูลค่าตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปี พ.ศ. 2563 พบว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่าถึง 1.67 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดเครื่องดื่มทุกชนิดของทั้งประเทศซึ่งมีมูลค่ารวม 4.45 แสนล้านบาท ที่น่าสนใจคือร้อยละ 90 ของมูลค่าดังกล่าวเป็นของเบียร์เพียงแค่ 3 ยี่ห้อจาก 2 บริษัทใหญ่เท่านั้น

คำถามที่เกิดขึ้นในฐานะผู้บริโภค คือ เบียร์ 3 ยี่ห้อดังกล่าวมีรสชาติถูกใจนักดื่มไทย หรือนักดื่มไทยไม่มีโอกาสในการเลือกบริโภคตัวเลือกอื่น ๆ กันแน่ และคำถามที่เกิดขึ้นในฐานะเป็นนักวิชาการทางกฎหมาย คือ กฎหมายในปัจจุบันสนับสนุนให้มีการแข่งขันแบบเสรี (ไม่ผูกขาด) กับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วหรือไม่ 

ทั้งสองคำถามมีคำตอบที่เกี่ยวโยงกัน โดยเริ่มต้นจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 โดยมีประเด็นสำคัญอันถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้

1. กำหนดให้ผู้ประสงค์ขอใบอนุญาตผลิตสุราต้องเป็นบริษัทที่ “มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท” โดย “มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท”

2. ผู้ผลิตสุราต้องมีศักยภาพผลิตขั้นต่ำ ดังนี้
- โรงผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) ต้องมีขนาดกำลังการผลิต 100,000 ถึง 1,000,000 ลิตรต่อปี
- โรงผลิตเบียร์ประเภทนอกเหนือจากข้างต้น ต้องมีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 10,000,000 ลิตรต่อปีขึ้นไป
- โรงผลิตสุราพิเศษชนิดวิสกี้ บรั่นดี และยิน (จิน) ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ยี่สิบแปดดีกรีไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน 
- โรงผลิตสุราชนิดอื่น ๆ ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ยี่สิบแปดดีกรีไม่น้อยกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน (เช่น สุราขาว)

จากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ข้างต้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแทบจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมในมูลค่าตลาดทางการค้าดังกล่าวเลย ตั้งแต่ทุนจดทะเบียนที่สูงเกินกำลัง และการเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำ (กรณีเบียร์) ที่เรียกเก็บที่ 100,000 ลิตร/ปี 

กล่าวคือ หากผู้ผลิตรายย่อยมีกำลังการผลิต 10,000 ลิตร/ปี ก็ต้องแบกรับการจ่ายภาษีที่เกินกว่ากำลังการผลิต อันทำให้ต้นทุนการขายนั้นอาจสูงถึงขวดละ 330 บาท (ขนาด 600 ml) ในขณะที่บริษัทที่มีกำลังการผลิตสูงอาจมีต้นทุนอยู่ที่ 60 บาท เท่านั้น เนื่องด้วยเมื่อคิดเป็นภาษีต่อขวดแล้วการขายเบียร์หนึ่งขวดต้องเสียภาษี 48% ตามจำนวนการผลิตต่อปีที่กล่าวมานั้นเอง 

เช่นนี้ ต่อให้ผู้ค้ารายย่อยมีทุนจดทะเบียนก็ไม่อาจสู้กลไกทางการตลาดในเรื่องราคาที่ต่างกันจนกำหนดความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคได้ 

ทั้งนี้ ยังมีการควบคุมจาก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ที่ระบุห้ามการโฆษณา และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เพื่อป้องกันไม่ให้มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 

จะเห็นได้ว่ากฎหมายทั้งสองไม่สามารถควบคุมบริษัทใหญ่ในการโฆษณาแฝงผ่านทางผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นแต่มีภาพจำเดียวกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่กลับสามารถ “ทำหมัน” ผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

ส่วนคำถามในฐานะผู้บริโภคนั้น หากเราผูกติดอยู่กับ “ข้อเสีย” อันเป็นผลมาจากการดื่มสุรา เช่นอุบัติเหตุทางการขับขี่หรือการก่ออาชญากรรม ก็อาจมีเหตุผลที่ดีพอสมควรในการจำกัดการบริโภคสุรา แต่ก็อย่าลืมว่าแม้จะไม่มีผู้ประกอบการรายย่อยเกิดขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อเสียนี้จะหมดไป พิสูจน์ได้จากมูลค่าตลาดเครื่องดื่มข้างต้นที่ผู้เขียนได้อ้างอิงมา 

เช่นนี้ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” หรือแท้จริงแล้วก็คือ “ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (แก้ไขเพิ่มเติม)” จึงเป็นการเสนอแก้ “ข้อจำกัด” ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้าจากการเก็บภาษีสรรพสามิต โดยคำนึงถึง “ข้อดี” ที่มีมากกว่าข้อเสีย 

โดยเสนอแก้ไขกฎหมาย ดังนี้

  1. สนับสนุนผู้ประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้า และมีเครื่องผลิตสุราและกลั่นสุราไว้ในครอบครอง
  2. เพิ่มบทห้ามกำหนดเกณฑ์ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการผลิตสุราของผู้ประกอบการรายย่อย
  3. อนุญาตให้ผลิตสุราบริโภคเองในครัวเรือนได้

ข้อดีที่ตามมาก็คือ โอกาสในการบริโภคสินค้าที่หลากหลายและราคาไม่สูงเกินสมควร ทั้งยังเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรได้ โดยสามารถนำข้าวหรือผลไม้ประจำฤดูกาลมาแปรรูปเป็นสุราเพิ่มมูลค่าทางการตลาด 

ทั้งยังเป็นการเปิดช่องทางการส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากรสชาติจากวัตถุดิบในประเทศที่สามารถสร้างอัตลักษณ์แห่งสินค้าได้แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างอาชีพและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งชุมชนอีกด้วย

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนไม่ได้หมายความถึงการค้าสุราอย่างเสรีโดยที่ไม่มีกฎหมายควบคุม ผู้เขียนยังคงเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่เป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามขายให้แก่เยาวชน หรือการจำกัดเวลาในการซื้อสุราก็ตาม แม้ว่าในความเป็นจริงอาจเห็นได้โดยทั่วไปว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวนั้นได้รับการปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใด

หากแต่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า การมี “ผู้ประกอบการรายย่อย” หรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องกับ “ผลเสีย” ที่เกิดจากการบริโภคสุรา

ในทางกลับกัน การมีกฎหมายที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้ามาในตลาดจะก่อให้เกิดผลดีในการลดการผูกขาด และยังช่วยกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปีให้เกิดแก่สังคมโดยรวม แทนที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ค้ารายใหญ่บางกลุ่มเท่านั้น.