เงินดิจิตัล และกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

เงินดิจิตัล และกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

เงินดิจิตัล (Digital currency) ตามพจนานุกรม Investopedia ให้ความหมายไว้คือ เงินตราที่มีอยู่ในรูปของดิจิตัลหรือในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

ส่วน เงินคริปโท (cryptocurrency ) พจนานุกรม Investopediaได้ให้ความหมายไว้ หมายถึงเงินตราที่เป็นดิจิตัลหรือเงินตราเสมือนที่เกิดจากการเข้ารหัส โดยเทคโนโลยี Cryptography ตามความหมายดังกล่าวข้างต้น Digital currency และ cryptocurrency เป็นสิ่งเดียวกัน

เงินดิจิตัลหรือ เงินคริปโทเป็นเงินที่ถูกกฎหมายหรือไม่
ตามเอกสารรายงานของห้องสมุดกฎหมายสภาครองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564   ระบุประเทศที่ห้ามใช้เงินคริปโทมี 9ประเทศ คืออียิปต์ อีรัค กาต้าร์ โอมาน มอรอคโค อัลจีเรีย บังคลาเทศ และจีน

 ส่วนอีก 42 ประเทศไม่ได้สั่งห้ามโดยตรง แต่ห้ามทางอ้อมโดยการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดกับธนาคารในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราคริปโท หรือห้ามแลกเปลี่ยนเงินตรากับเงินคริปโท 

ทั้งนี้เหตุผลที่รัฐบาลบางประเทศห้ามใช้เงินคริปโท เพราะการใช้เงินตราคริปโท มีช่องทางที่ใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย และอาจทำลายเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็มีรัฐบาลหลายประเทศกำลังมองแนวทางในการวางกฎระเบียบและการกำกับดูแลเงินตราคริปโท

เงินตราคริปโทสกุลต่างๆ : เงินตราคริปโทมีมากมายหลายสกุลที่แพร่หลาย เช่น Bitcoin (BTC) Ethereum (ETH) Binance Coin (BNB)

กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเงินคริปโท : พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดเงินตรา คือเหรียญกษาปณ์และธนบัตร หน่วยของเงินตราเรียกว่าบาท หนึ่งบาทแบ่งเป็นหนึ่งร้อยสตางค์ หลักที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ เหรียญกษาปน์เป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไม่เกินจำนวนที่กำหนดตามที่กำหนดในกฎกะทรวง ส่วนธนบัตรเป็นเงินที่ใช้หนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน

ตามมาตรา9ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดฯแทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเคยหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีการใช้เบี้ยกุดชุมเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในชุมชน คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าการใช้เบี้ยกุดชุมเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมีลักษณะเป็นเงินตรา เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติเงินตรา แต่ อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขก็ได้ 

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นว่า หากจะอนุญาตให้ใช้เบี้ยกุดชุมแทนเงินบาทก็ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด  เช่นให้ใช้ในเขตจำกัดเฉพาะใน 5 หมู่บ้าน และมีข้อความปรากฏชัดเจนว่ามิใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ปริมาณเบี้ยที่จะออกใช้ แงะปริมาณสูงสุดที่จะออกให้สมาชิกแต่ละราย 

เพราะเห็นว่า ตามกฎหมายเงินตรามีเจตนารมณ์ให้ระบบเงินตราของรัฐบาลเป็นระบบหลักเพียงระบบเดียว หากอนุญาตให้ใช้เบี้ยกุดชุมเป็นเงินตรา ก็อาจมีชุมชนอื่นฯขออนุญาตทำนองเดียวกัน ก็จะทำให้มีการใช้วัตถุอื่นแทนเงินบาทในวงกว้าง รัฐจะไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ในที่สุดชุมชนเปลี่ยนเรียกวัตถุดังกล่าวเป็นบุญกุดชุม และปรับวิธีการแลกเปลี่ยน

เงินดิจิตัล และกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ณ ปัจจุบันไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุญาตให้ใช้เงินดิจิตัลหรือเงินคริปโทเป็นเงินตรา เงินดิจิตัลหรือเงินคริปโทจึงยังไม่เป็นเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา พ.ศ.2485 : มีเจตนารมณ์ เพื่อควบคุมกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตรา คือเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และเงินตราต่างประเทศ คือเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศอื่นใดนอกจากประเทศไทย  

ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งโดยกำหนดให้ เงินตราเป็นของตามกฎหมายศุลกากร เพื่อให้สมารถใช้กฎหมายศุลกากรในการดูแลควบคุมการลักลอบนำเข้าส่งออกเงินตรา ที่จะป้องกันการฟอกเงินและการส่งเงินสนับสนุนการก่อการร้าย

แต่ก็อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติเมื่อกฎหมายไทย และต่างประเทศอีกมากยังไม่ยอมรับว่าเงินดิจิตัลหรือเงินคริปโตเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย รวมทั้งจะใช้กฎหมายศุลกากรควบคุมการนำเข้าส่งออกเงินดิจิตัลหรือเงินคริปโทที่จับต้องไม่ได้ ได้อย่างไร            

พระราชกำหนดควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตัล พ.ศ. 2561 : เจตนารมณ์ของการตราพระราชกำหนฉบับนี้ เพื่อให้มีกฎหมายกำกับหรือควบคุมการดำเนินการในการ นำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิตัลต่อประชาชน หรือใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิตัล 

ซึ่งทำให้มีการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้มีกฎหมายกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิตัล

เงินดิจิตัล และกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ฐานะทางกฎหมายของเงินดิจิตัลหรือเงินคริปโท : แม้ประเทศไทยยังไม่ยอมรับให้เงินดิจิตัลหรือคริปโทเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่ก็ไม่มีข้อห้ามหรือถือว่าการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวกับเงินดิจิตัลหรือเงินคริปโทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ใช้วิธีควบคุมกำกับดูแลที่ค่อนข้างเข้มงวด

อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังศึกษาพิจารณาออกเงินบาทดิจิตัล (Digital Bath ) ซึ่งเป็นเงินบาทอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นเงินบาทในรูปของดิจิตัล เช่นเดียวกับที่จีนออกเงิน Digital yuan

เมื่อพระราชกำหนดควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับโดยที่พระราชกำหนดฉบับนี้ กำหนดให้คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิตัล เป็นสินทรัพย์ดิจิตัล เงินดิจิตัลทีมีลักษณะเช่นเดียวกับคริปโทเคอร์เรนซี ก็มีฐานะตามกฎหมายเป็นสินทรัพย์ดิจิตัลด้วย ทำให้มีข้อพิจารณาว่า บรรดาความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ12ของประมวลกฎหมายอาญา จะนำมาใช้บังคับกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตัลได้หรือไม่ 

เนื่องจากเงินดิจิตัลและเงินคริปโท เป็นดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ จับต้องไม่ได้ ก็อาจนำไปเปรียบเทียบได้กับกรณีปัญหาลักกระแสไฟฟ้า ที่แม้ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่จะมีคำพิพากษาที่877/2501 พิพากษาว่าการลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งก็มีความเห็นทางวิชาการโต้แย้งว่าว่า กระแสไฟฟ้าไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  

นอกจากปัญหาข้อพิจารณาองค์ประกอบว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทรัพ์หรือไม่  ยังมีองค์ประกอบลักษณะการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ไม่อาจนำมาปรับใช้กับการกระทำต่อสินทรัพย์ดิจิตัลได้ เช่น การขโมยบิตคอยน์ด้วยการแฮกข้อมูล  จึงน่าจะแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญากำหนดความผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตัลไว้อีกลักษณะหนึ่งเป็นการเฉพาะ