พัฒนาการ"สินทรัพย์ดิจิทัล" ประเทศไทย จะไปทางไหน

พัฒนาการ"สินทรัพย์ดิจิทัล" ประเทศไทย จะไปทางไหน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ คณะกรรมาธิการ เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา เปิดเวทีสัมมนา "เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล"

ในงามสัมมนาดังกล่าว ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ให้เท่าทันกับการพัฒนาโดยไม่เป็นอุปสรรต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ 

กมธ.วุฒิสภา เสนอเพิ่มกม.สกัดฟอกเงิน 

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา กล่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ เข้ามาดูแลใกล้ชิด ด้วยจุดยืนชัดเจน การใช้คริปโทมาชำระสินค้าและบริการ ยังเป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินของไทย

ขณะที่พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมามีพัฒนามาเป็นลำดับ และในวันนี้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น คงต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลครอบคลุมมากขึ้น

อย่างไรก็ตามขอเสนอให้เพิ่มเติมประเด็น กรณีการอาศัยสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดหรือ หลีกเลี่ยงกฎหมายต่างๆ นั้น จะมีข้อกฎหมายรองรับให้หน่วยตรวจสอบของภาครัฐเข้าไปติดตามการกระทำผิดและยึดทรัพย์ “เงินมืด เงินดำ การฟอกเงิน” ได้อย่างไรบ้าง

“เราเห็นด้วยกับการพัฒนาเทคโนโลยี และคำนึงถึงวิถีชีวิตที่กำลังจะไปเปลี่ยน เราไม่ได้ห้ามและไม่ได้ส่งเสริม แต่เราต้องเตรียมเพื่อให้เรารู้เท่าทัน ทั้งประโยชน์และความเสี่ยง เราเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ส่วนไหนที่ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็ช่วยกันอุดให้ทางราบรื่น เมื่อวันนั้นมาถึงเราจะได้เลือกแนวทางเดินที่เหมาะสม ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย มีการเตรียมตัวล่วงหน้าไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง”

 

ก.ล.ต.ยกระดับกำกับ “โทเคน-เอ็นเอฟที”

 “นภนวลพรรณ ภวสันต์” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต. กล่าวว่า ปัจจุบันกรณี “ไพรเวทวอลเลต” ที่เปิดบัญชีง่ายด้วยกันเอง เหมือนกันเปิดอีเมล์ ไม่มีการทำ KYC เป็นความท้าทายหน่วยงานกำกับดูแล ดังนั้นก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจคัสโตเดียนวอลเลตโพรวายเดอร์ หรือผู้ให้บริการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล 

ขณะที่ในส่วนที่เหลือ ก.ล.ต.ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปง. ดีเอสไอ ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องสงสัย 

อีกทั้งขณะนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการทบทวน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้ครอบคลุมสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและแยกส่วนกำกับให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น โทเคนเพื่อการระดมทุน ได้มีการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ให้ครอบคลุมดิจิทัลแอสเสทที่มีลักษณะการระดมทุน ซึ่งได้เสนอไปทางกระทรวงการคลังแล้ว

นอกจากนี้ด้วยพัฒนาที่เร็วมากของเทคโนโลยี โดยเฉพาะโทเคนเพื่อใช้ประโยชน์ ตอนนี้กฎหมายเป็นเขียนไว้ว่าเป็นสิทธิซึ่งการได้มาด้วยสินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่นใด พัฒนาการตอนนี้ นอกจาก วอยเชอร์ ที่แปลงร่างมาเป็น โทเคนแล้ว ยังมีในลักษณะที่เป็น NFT ที่มีการเอารูปภาพ เพลง ออกมาเป็นเหรียญ เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนได้สะดวกและสามารถแสดงสิทธิได้ด้วย เป็นส่วนหนึ่งที่อาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโทเคนเพื่อใช้ประโยชน์

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “ยูทิลิตี้โทเคน” มีพัฒนาค่อนข้างมาก ก.ล.ต.จึงอยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางกำกับด้วยเช่นกัน เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เราสามารถบาลานซ์นวัตกรรม กับขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่ค่อนข้างกว้าง และยังต้องมีการคุ้มครองผู้ลงทุน ในเรื่องการเก็งกำไร ราคาและความเหมาะสม 

อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานกำกับอื่นๆ เช่น NFT ยังเกี่ยวข้องกับหน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญา ที่ต้องทำงานร่วมกัน 

ภารกิจธปท.ดูแลเสถียรภาพการเงิน

“ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท.กล่าวว่า “บล็อกเชน” เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพมาก ในการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเงินอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศ ในส่วนนี้เราไม่ได้ปิดกั้น

แต่ในแง่ของการการชำระสินค้าและบริการ ความน่าเชื่อถือของเงินยังเป็นสิ่งสำคัญ เรามองว่า คริปโทเคอร์เรนซี ยังเหมือนสกุลเงินต่างประเทศ ต้องไม่ใช้เป็นสื่อการชำระเงิน เพราะจะมีผลต่อการใช้นโยบายการเงิน เช่นการดูแลเงินเฟ้อ ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยไม่มีประสิทธิภาพ

จุดเริ่มต้นของแต่ละประเทศในการเริ่มใช้เงินดิจิทัลมีที่มาและเหตุแตกต่างกัน ซึ่งระบบการชำระเงินในไทย ไม่ได้มีปัญหาและต้นทุนยังถือว่าถูก ดังนั้นวัตถุประสงค์ของธปท. คือการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ทั้งแบงก์ นอนแบงก์ ฟินเทคสามารถนำไปใช้ได้ ไม่ใช่แค่การใช้จ่ายเงินปกติ

ปัจจุบันทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ธปท. มีโครงการอินทนนท์ ทดลองการโอนเงินระหว่างธนาคาร ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ได้เริ่มระหว่างธนาคารในประเทศแล้ว และขณะนี้กำลังทดลองในต่างประเทศ ส่วนการพัฒนา CBDC ยังดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้

“คริปโทฯ มีประโยชน์ในเรื่องเทคโนโลยี แต่ทางการหลายประเทศเป็นห่วง คือมูลค่าผันผวน อาจทำให้เกิดความเสี่ยง ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง อย่างในปีวิกฤติ 40 เงินบาทอ่อนค่ามาก ธุรกิจเป็นหนี้ต่างประเทศ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ธนาคารขาดสภาพคล่อง ทางการสามารถเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องได้ เพราะถือเงินบาท แต่ถ้าตอนนี้ธุรกิจไม่ได้ถือเงินบาท ธนาคารกลางไม่มีคริปโทฯทุกสกุล จะทำอย่างไร จุดนี้ธนาคารกลางทั่วโลกยังกังวล”

“เราไม่ได้ปิดกั้น การใช้บล็อกเชน แต่คริปโทยังเหมือนสกุลเงินตราต่างประเทศ จะมีผลต่อการใช้นโยบายการเงินเข้าไปดูแลเมื่อเกิดวิกฤติ และเป็นความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินไทย”

 

นายกฯดิจิทัลแอสเสท ชง 5 ยุทธศาสตร์พัฒนา

“ศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์” นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า หากประเทศเหมือนรถ ถ้ามีแต่คันเร่ง การพัฒนาไปข้างหน้าก็มีแต่ความเสี่ยง หรือถ้ามีแต่เบรก การพัฒนาไปข้างหน้าก็ไม่เกิด เราต้องมีทั้งคันเร่งและเบรกไปพร้อมกัน ทุกคนต้องหาจุดสมดุล เพิ่มโอกาสให้มากที่สุด จำกัดความเสี่ยงที่รับได้

“สินทรัพย์ดิจิทัล” ในประเทศไทย จะไปข้างหน้าในทิศทางไหน ขึ้นกับผู้กำหนดนโยบาย กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ สมาคมฯ เสนอ 5 แนวทาง คือ 1. การสร้าง Community Management ซัพพอร์ตสตาร์ทอัพ ที่มีความสนใจอยากทำธุรกิจ 

2. Ecosystem development โดยสร้างเมืองให้เป็น Innovation & Knowledge Hub 3.Stakeholder engagement เปิดโอกาสให้ปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ และ Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง

4.Operating Management เสริมสร้างการทำงาน แบบโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และ 5. Investmentsสร้างระบบนิเวศให้ดึงดูดการลงทุน

“สิ่งที่เราเห็นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องเปิดใจยอมรับ ไม่เช่นนั้นเราจะพยายามไม่เปลี่ยนตัวเอง เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้เราปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ ทำให้เราอยู่รอดในยุคสมัยนี้”

 

สร้างอีโคซิสเต็ม รองรับกระแส "ฟันด์โฟลว์เสรี”

“พิริยะ สัมพันธารักษ์” กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด กล่าวว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเกมเศรษฐกิจใหม่ ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ มีทั้งโอกาส เช่น บิทคอยน์ ช่วยเก็บสะสมมูลค่า แก้ปัญหาความไม่เชื่อในเรื่องการพิมพ์เงิน และความเสี่ยง เช่น การเก็งกำไร ฉ้อฉล

ดังนั้นทุกฝ่ายต้องหาวิธีอยู่ร่วมกัน โรดแมพยุทธศาสตร์ประเทศ เมื่อโลกไปในทิศทาง “กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี” มองว่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศได้ ต้องมาจากกำกับที่สร้างสภาพแวดล้อม ปลอดภัยและน่าลงทุน

พิริยะ กล่าวว่า ถ้าเราทำให้ชัดเจนได้ เราจะได้ประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ของโลกใหม่

“สินทรัพย์ดิจิทัล เหมือนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นและตก เราหยุดไม่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะยอมให้เกิดขึ้นหรือไม่”