"สินทรัพย์ดิจิทัล" บทเรียนในอดีตและระบบการเงินในอนาคต | สายธาร หงสกุล

"สินทรัพย์ดิจิทัล" บทเรียนในอดีตและระบบการเงินในอนาคต | สายธาร หงสกุล

ทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้ทำให้ระบบการเงินเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนวัตกรรมที่เป็นที่แพร่หลายขึ้นมากคือสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล

เป้าหมาย (บางส่วน) ของผู้ออกแบบและนำนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในระบบการเงิน คือ การสร้างความสะดวกแก่ผู้ใช้ ความมีอิสระในการทำธุรกรรมการเงินที่ไม่ต้องพึ่งระบบกลาง พึ่งพาสถาบันการเงินตัวกลางเช่นธนาคารพาณิชย์น้อยลง 
    ซึ่งอาจเนื่องมาจากระบบกึ่งผูกขาดของสถาบันการเงินในบางประเทศ ที่คิดค่าบริการค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนทั่วไป การไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ของประชาชนบางกลุ่ม 

สาเหตุเหล่านี้ผลักดันให้ผู้ใช้หาหนทางอื่นเพื่อทำธุรกรรม สินทรัพย์ดิจิทัลจึงได้ถูกพัฒนาเป็นอีกทางเลือกสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ หรือเป็นเครื่องมือลงทุนนอกเหนือไปจากเงิน หลักทรัพย์เช่นหุ้นและพันธบัตร หรือทอง เป็นต้น

การที่สินทรัพย์ดิจิทัลได้แพร่หลายขึ้นมากในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เป็นการสะท้อนให้เห็นความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่ตอบโจทย์ได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ได้มาถึงประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ธุรกรรมที่ทำได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น สร้างโอกาสและรายได้ในเชิงธุรกิจ 

ตัวอย่างหนึ่งคือความแพร่หลายของ  NFT ในการซื้อขายงานศิลปะช่วยสร้างรายได้ให้ศิลปินอย่างกว้างขวางขึ้นมาก ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่การใช้  NFT จะแพร่หลายไปในวงการอื่นๆ ด้วย

ปรากฏการณ์ที่มูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้สินทรัพย์ทางเลือกในวงกว้างขึ้น ประกอบกับมีการยอมรับใช้งานแพร่หลายอย่างเร็วเช่นในวงการเกมส์และศิลปะ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเก็บรักษา เช่น ทอง 

นอกจากนี้ความต้องการสินทรัพย์ทางเลือกมักเพิ่มสูงขึ้นเวลาความมั่นใจในเงินสกุลหลักลดลง หรือมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นในเศรษฐกิจโลก 
 
นวัตกรรมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะในทางการเงินหรือในสาขาอื่น เป็นผลผลิตที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพของกิจกรรมต่างๆ ในการดำรงชีวิตหรือดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้น

แต่เราไม่ควรลืมว่านวัตกรรมนั้นคือ "เครื่องมือ" การนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์นั้นขึ้นอยู่กับกับผู้ใช้และสังคม หากใช้ในทางที่ไม่สร้างสรรค์จะมีผลในทางตรงข้าม

ตัวอย่างเช่นโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการสื่อสาร มีข้อดีในการช่วยให้การสื่อสารทำได้เร็วขึ้น ในวงกว้างขึ้น แต่เมื่อถูกนำไปใช้ในการกระจายเฟคนิวส์หรือสร้างความขัดแย้ง ผลในทางลบก็กระจายได้เร็วและในวงกว้างเช่นกัน

\"สินทรัพย์ดิจิทัล\" บทเรียนในอดีตและระบบการเงินในอนาคต | สายธาร หงสกุล

การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลก็ควรตระหนักถึงผลทั้งบวกและลบที่อาจตามมา  ปัญหาหนึ่งคือ มูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงมาก เนื่องจากการตีราคา คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานที่ใช้กับการคำนวณมูลค่าเงินสกุลต่างๆ หรือหลักทรัพย์เช่นหุ้นหรือพันธบัตร ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ฐานะการเงินหรือความน่าเชื่อถือของประเทศและรัฐบาล หรือองค์กรที่ออกเงินตราหลักทรัพย์นั้นๆ

ความผันผวนสูงของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ไม่เหมาะกับการนำมาใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันทั่วไป 
 
นอกจากนี้ในแง่ของการบริหารเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ หน้าที่สำคัญของธนาคารกลางคือการควบคุมดูแลปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบการเงินอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งอัตราการเพิ่มของเงินกู้ยืม  เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจทั่วไปและความมั่นคงของประเทศ 

ดังนั้น การมีเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ หรือเครื่องมือในการกู้ยืมและลงทุนเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากเงินตราและหลักทรัพย์ทั่วไป จึงทำให้บทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารกลางมีความท้าทายมากขึ้น
 
นอกจากประเด็นทางเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการเงินแล้ว ประเด็นอื่นๆเช่น cyber risk และความคุ้มครองทางกฎหมายที่ยังไม่มีมาตรฐานสากลยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ รัฐบาลในหลายประเทศไม่ยอมรับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะปัญหาการฟอกเงินหรือการใช้เงินในทางทุจริต 

ในประเด็นนี้จุดแข็งในแง่ของผู้พัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัล (การไม่พึ่งระบบกลาง ความเป็นเอกเทศ และความเป็นส่วนตัว) กลายเป็นจุดอ่อนทางแง่กฎหมาย ประเด็นต่างๆเหล่านี้ยังต้องเป็นที่ขบคิดและหาทางออกเพื่อการออกแบบระบบที่รัดกุมขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

 
ประเทศไทยได้เปิดใจกว้างในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลระดับหนึ่ง ดังที่มีการตราพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นใน พ.ศ.2561 เพื่อดูแลให้การดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ให้ความคุ้มครองสาธารณชน รวมทั้งดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพรวม 

ไทยไม่รับรองสถานะของสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่รับรองสถานะของคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิตัล เป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง แม้ไม่เคยประกาศว่าการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการแลกเปลี่ยนสินค้าบริการเป็นการผิดกฎหมาย 

\"สินทรัพย์ดิจิทัล\" บทเรียนในอดีตและระบบการเงินในอนาคต | สายธาร หงสกุล

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าธนาคารไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าบริการทั่วไป โดยแสดงความห่วงใยในมูลค่าที่ผันผวนสูง ความเสี่ยงทางไซเบอร์ การถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว และการใช้เพื่อทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ล่าสุดนี้ทางการมีทีท่าจะเข้มงวดการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการซื้อสินค้าบริการมากขึ้น อาจถึงขั้นห้าม
 
 อนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลจึงยังมีความท้าทายสูง ผู้ที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัลและส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินควรตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ การเข้าใจที่มาของปัจจัยเสี่ยงจะช่วยในการบริหารความเสี่ยงได้ตรงจุด ความเสี่ยงบางอย่างเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ เช่น ความเสี่ยงเรื่องความผันผวนทางราคาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนปัจจัยพื้นฐานของผู้ออกสินทรัพย์ (เฉกเช่นฐานะการเงินของบริษัทที่ออกหุ้นหรือพันธบัตร) 

แต่ความเสี่ยงในบางปัจจัย เช่น cyber risk หรือการคุ้มครองทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงได้ สินทรัพย์ดิจิทัลมีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ของสังคมส่วนรวมได้กว้างขวางและมั่นคงยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนร่วมทั้งผู้ออกสินทรัพย์ ผู้ใช้ นักลงทุน และทางการจึงควรร่วมมือกัน สื่อสารมุมมองระหว่างกันและกันเพื่อพัฒนาในขั้นต่อไป
 
ผู้ถือสินทรัพย์และนักลงทุนควรต้องตระหนักว่าสินทรัพย์ ไม่ว่าในรูปแบบใด จะมีความเสี่ยงเสมอ จึงควรบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภที่ก่อให้เกิดวิกฤติทางการเงินต่างๆในอดีต การปั่นราคาและการใช้ทรัพยากรทางการเงินในทางที่ไม่ก่อประโยชน์จะนำไปสู่ความสูญเสียหรือเกิดปัญหาเชิงระบบในที่สุด 

ในแง่ของทางการ หน้าที่สำคัญคือการดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม ให้การสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อประสิทธิภาพของระบบการเงินที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันต้องดูแลไม่ให้มีการนำนวัตกรรมไปใช้ในทางที่กระทบกระเทือนเสถียรภาพส่วนรวมอันอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงต่อระบบ ในขณะที่เราเปิดรับนวัตกรรมใหม่ บทเรียนจากอดีตก็ยังมีค่าในการออกแบบอนาคต. 

\"สินทรัพย์ดิจิทัล\" บทเรียนในอดีตและระบบการเงินในอนาคต | สายธาร หงสกุล