“เกรด” สิ่งล้าสมัยในยุค Next Normal | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

“เกรด” สิ่งล้าสมัยในยุค Next Normal | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

เกรดเป็นเครื่องมือในการคัดคนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาช่วงรอยต่อระหว่างอุตสาหกรรม 2.0 และ 3.0 ในโลกที่โลกของงานและการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงช้า เกรดถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการคัดคนให้เหมาะกับงาน

หลักของการเกรดคน คือ การกำหนดองค์ความรู้มาชุดหนึ่ง แล้ววัดกันว่าใครใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ชุดนี้ได้มากกว่ากัน คนไหนทำได้ดีเกรดก็ดีตามไปด้วย ปัญหาก็คือ โลกแบบนั้นมันกลายเป็นอดีตไปแล้ว 

ในยุค Next Normal ที่องค์ความรู้เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป รวดเร็วมากกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น การใช้เกรดมาเป็นเครื่องชี้อนาคตนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังไปบิดเบือนกระบวนการพัฒนาคน ทำให้เกิดภาวะการผิดฝาผิดตัวระหว่างทักษะแรงงานกับสิ่งที่จะเกิดประโยชน์จริง ๆ ในโลกของงาน

ในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ที่มีระบบการประเมินผลการ “เติบโต” ของผู้เรียนแตกต่างจากระบบการให้เกรดปกติ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ ได้แก่ 1) Brown University 2) Hampshire College 3. Antioch University 4) Sarah Lawrence College 

5) Alverno College 6) Fairhaven College of Interdisciplinary Studies 7) Prescott College 8) Evergreen State College 9) New College of Florida และ 10) Reed College 

นอกจาก Brown University ที่อยู่ในกลุ่มไอวีลีกแล้ว มหาวิทยาลัยอื่นอาจจะไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่หากศึกษาปรัชญาเบื้องหลังของการเลือกวิธีการประเมินที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะพบว่าทุกแห่งมีรากฐานของความเชื่อเหมือนกันคือ การให้คุณค่ากับมิติความเป็นคนที่รอบด้าน ยอมรับว่า แต่ละคนมีเส้นทางในการเติบโตที่แตกต่างกัน การประเมินความสำเร็จของการเติบโตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง จึงไม่ควรใช้ไม้บรรทัดเดียว

ทุกคนเกิดมาพร้อมกับไม้บรรทัดส่วนตัว การวัดความสำเร็จของคนคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ จึงต้องเทียบกับไม้บรรทัดส่วนตัวของเขา ภายใต้เงื่อนไขด้านสภาพแวดล้อมและเงื่อนเวลาที่เหมาะสมกับการเติบโตของแต่ละคน 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การตัดเกรดยังเป็นเครื่องมือหลัก คือ ช่วยลดต้นทุนในการจัดการศึกษา เพราะสามารถออกแบบการเรียนรู้แบบเดียวสำหรับคนหมู่มาก ทั้งยังสะดวกต่อการประเมินเพราะใช้เครื่องมือประเมินเพียงชุดเดียวกับทุกคน สามารถขยายผลการประเมินจากระดับผู้เรียน ไปสู่ระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา หรือสูงกว่านั้นได้ จึงสะดวกต่อการติดตามประเมินผลความสำเร็จในการศึกษา ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลหนักแน่น ในการกำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา 

ที่น่าเศร้าใจ คือ ความนิยมดังกล่าว เป็นความนิยมจากฝั่งผู้จัดการศึกษา หาใช่ความนิยมที่เกิดขึ้นจากฝั่งของผู้เรียน อาการ “ไม่ปลื้ม” ของผู้เรียนเห็นได้จากความเครียด ความกดดัน ที่ต้องแข่งขันกันทำคะแนน ต้องคอยนับคะแนนเพื่อให้ตัวเองหนีตายไม่สอบตก การเรียนรู้ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวเช่นนี้ จึงเป็นการเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอดในห้องเรียน มิใช่การเรียนรู้เพื่อการเติบโตไปสู่อนาคตที่ดี 

“เกรด” สิ่งล้าสมัยในยุค Next Normal | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

มื่อบาดแผลการหนีตายจากการตัดเกรดกลายเป็นประสบการณ์ไม่น่าจดจำ ก็ไม่ต้องหวังเลยว่าคนที่รอดจากสนามตัดเกรดจะมีความสุขหรือมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

ในรายงาน Future of Jobs Report ของ World Economic Forum พบว่า ทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกของงานในปี 2558 พอมาถึงปี 2563 มีทักษะ 2 อย่างที่ลดความสำคัญลงจนไม่ติด 10 อันดับแรก มีทักษะใหม่เข้ามาแทนที่ และอันดับความสำคัญของบางทักษะที่ยังติด 10 อันดับแรก ก็ลดลงกว่าเดิม ยิ่งพอมีการสำรวจซ้ำเมื่อปีก่อนก็พบว่าทักษะที่จำเป็นในปี 2568 แทบจะกลายเป็นทักษะคนละชุดกันเลย 

สิ่งที่เด็กเรียนตอน ม.1 บางเรื่องล้าสมัยเมื่อเด็กขึ้น ม.4 และเกือบทุกอย่างที่เด็กเรียนในช่วงมัธยมจะใช้ไม่ได้เมื่อเขาจบมหาวิทยาลัย นั่นหมายความว่า เกรดที่ได้ตอน ม.1 ม.4 และเกรดระดับมหาวิทยาลัยในบางวิชาแทบไร้ความหมายในวันที่เด็กคนนี้ก้าวเข้าสู่โลกของงาน “เกรด” จึงกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในยุค Next Normal

ที่ผ่านมา การออกแบบการเรียนรู้และแนวทางการประเมินให้เหมาะสมกับผู้เรียนทำได้ยาก นึกภาพว่าครูคนเดียวสอนนักเรียน 20 คน หากต้องออกแบบแนวทางที่แตกต่างกัน 20 แนวทางให้เหมาะกับนักเรียนทุกคน แค่คิดก็หืดจับแล้ว ถึงออกแบบได้ แล้วเอาเวลาไหนไปสอนทีละคนให้ครบทุกคน แถมยังเจอปัญหาอีกว่า เมื่อมีแนวทางการเรียนรู้แตกต่างกัน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าการให้เกรดจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ข่าวดีก็คือ ข้อจำกัดเหล่านี้กำลังอ่อนแรงลงในยุค Next Normal ปัญญาประดิษฐ์สามารถเป็นผู้ช่วยของครูในการออกแบบการเรียนรู้และแนวทางการประเมินที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนได้ โดยไม่ต้องให้เกรด แต่เทียบความก้าวหน้าของเด็กกับศักยภาพของตนเอง การจัดการเรียนรู้แบบนี้ คือ หัวใจสำคัญของการศึกษายุค 4.0 คำถามก็คือ เราต้องรออีกนานไหมกว่าจะเห็นเด็กไทยได้เติบโตแบบนี้เสียที.

คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์