ตัดเกรดความคุ้มค่า จอมทัพคนชนคน

ตัดเกรดความคุ้มค่า จอมทัพคนชนคน

ในกีฬาอเมริกันฟุตบอล ตำแหน่งที่ถูกจับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ควอเตอร์แบ็กที่มีบทบาทสำคัญ ในการนำเกมบุกของแต่ละทีม

ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องพลังแขน แต่สายตา มันสมองในการอ่านเกม รวมถึงสองเท้าที่ต้องเคลื่อนไหวหลบหลีกผู้เล่นเกมรับที่พุ่งเข้าใส่ ล้วนแต่เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมผู้เล่นในตำแหน่ง “จอมทัพ” ถึงได้รับการยกย่องจากคนในวงการเป็นพิเศษ

เช่นเดียวกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ผู้บริหารทีมต้องเจียดมาจ่ายเป็นค่าเหนื่อยของผู้เล่นตำแหน่งนี้ และบริหารจัดการส่วนที่เหลือให้เหมาะกับเพดานเงินเดือนที่ เอ็นเอฟแอล ตั้งไว้

เดิมพันสูง

ปัจจุบัน แอนดรูว์ ลัค ของ อินเดียนาโปลิส โคลท์ส คือควอเตอร์แบ็กที่ได้รับค่าเหนื่อยสูงสุดในลีก หลังเซ็นสัญญาระยะ 5 ปี มูลค่า 122.9 ล้านดอลลาร์ เมื่อกลางปี 2016 พร้อมโบนัสค่าจรดปากกา 32 ล้านดอลลาร์ และการันตีค่าเหนื่อยอย่างน้อย 87 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อปีที่ 24.59 ล้านดอลลาร์

ไม่มีใครยืนยันได้ว่าการตัดสินใจของ จิม อิสเรย์ เจ้าของทีม โคลท์ส ถูกหรือไม่ เพราะ ลัค อาจเป็นหนึ่งในควอเตอร์แบ็กชั้นนำของลีก แต่ผลงานของทีมในฤดูกาลนี้ กลับจบเพียงอันดับ 3 ในสาย เอเอฟซี ใต้ ด้วยสถิติชนะ 8 แพ้ 8 ไม่ได้ผ่านเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ 

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อพิจารณาค่าเหนื่อยของจอมทัพที่เป็นตัวจริงในเพลย์ออฟฤดูกาลนี้ มีถึง 9 จาก 12 คน ที่รับค่าเหนื่อยต่อปี อย่างน้อย 17 ล้านดอลลาร์

แพงแต่คุ้มค่า

แอรอน ร็อดเจอร์ส ของ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส คือคนที่มีค่าเหนื่อยสูงสุดในกลุ่ม ด้วยค่าเฉลี่ยรายรับต่อปีในสัญญาฉบับปัจจุบันที่ 22 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย รัสเซลล์ วิลสัน ของ ซีแอทเทิล ซีฮอว์คส์ 21.9 ล้านดอลลาร์

เบน รอธลิสแบร์เกอร์ ของ พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส 21.85 ล้านดอลลาร์ อีไล แมนนิง ของ นิวยอร์ค ไจแอนท์ส 21 ล้านดอลลาร์ แม็ทท์ ไรอัน ของ แอตแลนตา ฟอลคอนส์ 20.75 ล้านดอลลาร์ และ ทอม เบรดี ของ นิวอิงแลนด์ เพเทรียทส์ 20.5 ล้านดอลลาร์

จะเห็นได้ว่าในกลุ่มที่รับค่าเหนื่อยปีละ 20 ล้านดอลลาร์ มีถึง 5 จาก 6 คนที่เคยได้แชมป์ซูเปอร์โบว์ล ขณะที่ ไรอัน แม้จะยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ก็เป็นเป็นเจ้าของสถิติขว้างทำระยะและทัชดาวน์มากสุดเป็นอันดับ 2 ในฤดูกาลนี้  

ขณะที่ แม็ทธิว สแตฟฟอร์ด ของ ดีทรอยท์ ไลออนส์ (17.67 ล้านดอลลาร์) และ อเล็กซ์ สมิธ ของ แคนซัส ซิตี ชีฟส์ (17 ล้านดอลลาร์) แม้จะยังไม่มีสถิติหรือเกียรติยศเทียบเท่า แต่ก็มีผลงานที่ดีเช่นกันในปีที่ผ่านมา

ของปลอมทำเหมือน

ในกลุ่ม 12 คนที่ผ่านมาถึงจุดนี้ หนึ่งรายที่ยังถูกตั้งคำถามว่าคุ้มกับค่าเหนื่อยหรือไม่ คือ บรอค ออสไวเลอร์ อดีตควอเตอร์แบ็กสำรองของ เดนเวอร์ บรองโกส์ ที่ย้ายมาเล่นให้ ฮุสตัน เท็กแซนส์ ในฐานะฟรีเอเยนต์ ตอนช่วงปิดฤดูกาล พร้อมรับค่าเหนื่อยปีละ 18 ล้านดอลลาร์

ผลงานของ ออสไวเลอร์ ในฤดูกาลปกติกับ เท็กแซนส์ เข้าข่ายล้มเหลว ด้วยการขว้างถึง 16 อินเตอร์เซปท์ เป็นสถิติใหม่ของแฟรนไชส์ จนเสียตำแหน่งตัวจริงให้ ทอม ซาเวจ และไม่น่าจะได้เล่นในรอบเพลย์ออฟด้วย หาก ซาเวจ ไม่ได้รับบาดเจ็บในช่วงปลายฤดูกาล

แต่ ออสไวเลอร์ ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสทองหลุดลอยไป เมื่อทำผลงานได้ดี ในเกมไวลด์การ์ดที่ชนะ โอคแลนด์ เรดเดอร์ส 27-14 แม้หลักๆ ชัยชนะจะมาจากทีมรับ และการที่ เรดเดอร์ส ต้องเสียควอเตอร์แบ็กตัวเลือกสองคนแรกไปใน 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาลก็ตาม

ของถูก

ถัดจาก 9 คนที่กล่าวมา แม็ทท์ มอร์, คอนเนอร์ คุก และ ดัค เพรสคอทท์ คือสามคนที่ได้รับค่าเหนื่อยต่ำกว่าเกณฑ์นับสิบเท่า

มอร์ ของ ไมอามี ดอลฟินส์ แม้จะอยู่ในวงการมานานกว่า 9 ปี แต่สถานะของเจ้าตัวเป็นเพียงแบ็คอัพ จนได้มาเล่นเป็นตัวจริงในตอนปลายฤดูกาล เมื่อ ไรอัน แทนเนฮิลล์ ได้รับบาดเจ็บใน 3 นัดสุดท้าย ซึ่งเจ้าของค่าเหนื่อย 1.775 ล้านดอลลาร์ต่อปี (รวมโบนัส) ก็ทำผลงานได้พอตัว ด้วยสถิติ ชนะ 2 แพ้ 1 พาทีมเข้ารอบเพลย์ออฟสำเร็จ ก่อนแพ้ให้ พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส ที่เหนือกว่าทุกด้านในรอบไวลด์การ์ด

ด้าน คุก (739,973 ต่อปี) ซึ่งเริ่มฤดูกาลในฐานะมือ 3 ของ เรดเดอร์ส กลายเป็นควอเตอร์แบ็กรุกกีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นตัวจริงในรอบเพลย์ออฟ และก็เป็นไปตามคาด เมื่อการขาดประสบการณ์ของ คุก เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ เรดเดอร์ส แพ้ต่อ เท็กแซนส์ ทั้งที่ก่อน เดเร็ค คาร์ จะบาดเจ็บ “สลัดดำ” ถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งของสายเอเอฟซี

เซอร์ไพรส์

ดัค เพรสคอทท์ (680,848 ดอลลาร์ ต่อปี) คือผู้เล่นที่เหนือความคาดหมายมากที่สุด เมื่อนำ ดัลลัส คาวบอยส์ ผ่านเข้ารอบเพลย์ออฟในฐานะทีมอันดับหนึ่งของ เอ็นเอฟซี หลังได้รับโอกาสลงเล่นแทน โทนี โรโม ตำนานควอเตอร์แบ็กของทีมที่บาดเจ็บในช่วงพรีซีซัน ด้วยสถิติชนะ 13 แพ้ 3 และสถิติส่วนตัว 23 ทัชดาวน์ เสียเพียง 4 อินเตอร์เซปท์

ผลงานของ เพรสคอทท์ ไม่เพียงทำให้ โรโม ยังต้องเป็นสำรองต่อไป แม้จะหายดีกลับมาแล้ว ยังทำให้เจ้าตัวเป็นหนึ่งในแคนดิเดทตำแหน่งเอ็มวีพีของลีกฤดูกาลนี้ด้วย

ที่สำคัญ วันอาทิตย์นี้ เพรสคอทท์ ที่รับค่าเหนื่อยถูกสุด จะได้เผชิญหน้ากับ ร็อดเจอร์ส ที่ได้รับค่าเหนื่อยมากกว่าถึง 32 เท่า ในรอบดิวิชันนอล เพลย์ออฟ ของสายเอ็นเอฟซีพอดี 

ไม่มีใครปฏิเสธว่าผลงานของจอมทัพดาวรุ่งในปีนี้ เกินคุ้มกว่าที่ คาวบอยส์ จ่ายไป แต่หาก เพรสคอทท์ นำทีมไปถึงซูเปอร์โบว์ลได้สำเร็จ เจ้าตัวจะสามารถเรียกค่าเหนื่อยได้สูงกว่าในปัจจุบันนับสิบเท่าอย่างแน่นอน