กยศ.ยันไม่ลดเกณฑ์ขั้นต่ำเกรดเฉลี่ย2.00

กยศ.ยันไม่ลดเกณฑ์ขั้นต่ำเกรดเฉลี่ย2.00

กยศ.ยันไม่ลดเกณฑ์ขั้นต่ำเกรดเฉลี่ย 2.00 ย้ำดำเนินการตามนโยบาย ปล่อยกู้ให้ยาก คืนให้ง่าย เล็งหามาตราการช่วยผู้กู้รายเก่า

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริหารกยศ. ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติ ปรับหลักเกณฑ์การกู้ยืมที่กำหนดให้ผู้กู้ยืมทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 โดยจะเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2558 นี้ และไม่มีการอนุโลม ให้ผู้กู้รายเก่าที่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 แต่ไม่ต่ำกว่า1.75 ได้มีสิทธิกู้ยืมต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการบริหารกยศ. ก็ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว สำหรับสาเหตุที่กยศ. กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้กยศ. ปล่อยกู้ให้ยาก จ่ายคืนให้ง่ายขึ้น ดังนั้นการปล่อยกู้ก็จะต้องดูความจำเป็น ไม่ใช่ให้กู้ง่าย แต่เด็กเรียนไม่จบ หางานทำไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่มีเงินใช้หนี้กลายเป็นความสูญเสีย

สำหรับที่หลายฝ่ายกังวลว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่เป็นธรรมกับผู้กู้รายเก่า นั้น เร็วๆ นี้กยศ. จะเสนอมาตรการเยียวยาผู้กู้รายเก่าที่เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า2.00 ซึ่งเท่าที่ดูภาพรวมแล้ว มีไม่ถึง10% ของจำนวนผู้กู้ทั้งระบบ ส่วนมาตรการที่จะออกมาจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่สามารถตอบได้ ต้องรอให้คณะกรรมการบริหารกยศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แต่เบื้องต้นหลักเกณฑ์การกู้ยืมยังยืนยันตามมติเดิม อีกทั้ง เด็กทุกคนควรตั้งใจเรียน เพื่อแสดงถึงความมีวินัย และความรับผิดชอบ และเกรดเฉลี่ย 2.00 ที่กยศ. กำหนดก็ไม่ได้มากเกินไป เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำหากเด็กที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วไม่ถึง 2.00 ก็จะไม่จบการศึกษา ยิ่งเป็นผู้กู้กยศ. ที่ใช้เงินรัฐบาลในการศึกษา ก็ยิ่งต้องมีวินัยและมีความรับผิดชอบ

ส่วนโครงการรณรงค์ชำระหนี้ ซึ่งเปิดให้ร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2557 - 30 เมษายน 2558 โดย ลดเบี้ยปรับ 50-100% ลดเงินต้น 3%​ เพื่อจูงใจผู้กู้ยืมให้มาชำระหนี้ให้เป็นปกติหรือมาชำระหนี้ปิดบัญชี พบว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี มีผู้มาชำระหนี้มากกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยขณะนี้มียอดชำระหนี้แล้ว ประมาณ 1,000กว่าล้านบาท ซึ่งผู้ปกครอง และผู้กู้เริ่มเข้าใจว่า เมื่อกู้แล้วต้องชำระคืน ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และต่อไปจะมีนำข้อมูลผู้กู้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ไปอยู่ในระบบของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโรด้วย