สถานการณ์ "โอมิครอน" กับคนไทย และท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

สถานการณ์ "โอมิครอน" กับคนไทย และท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เปิดมุมมอง สถานการณ์ "โอมิครอน" กับคนไทย และท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เข้าสู่กลางเดือนธันวาคม 2564 (2021) แล้ว หลายคนอาจวางแผนท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือบางคนยังรอประเมินสถานการณ์ "โควิด-19" แพร่ระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอมิครอน" หรือ โอไมครอน (Omicron) จะรุนแรงแค่ไหน ก่อนตัดสินใจท่องเที่ยวในประเทศ หรือเดินทางออกต่างจังหวัด

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้าย ปี 2021” ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2564 

พบว่า ในช่วงวันหยุดยาวและปีใหม่นี้ประชาชนจะไม่เดินทางท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.57 เพราะกังวลโควิด-19 โอไมครอน และเงินไม่พร้อม ส่วนอีกร้อยละ 34.35 จะไป เพราะฉีดวัคซีนแล้ว มั่นใจว่าดูแลตัวเองได้ 

จังหวัดที่อยากไปเที่ยวมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 41.22 รองลงมาคือ เชียงราย ร้อยละ 25.68 

คาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายประมาณ 12,857 บาท 
จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 85.79 
เลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่อากาศดี ถ่ายเทสะดวก ไม่คับแคบ 

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวและปีใหม่นี้ คือ กำหนดมาตรฐานสุขภาพให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว มีการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากโควิด-19 ในสถานที่ท่องเที่ยว

พรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของคนไทย โดยอยู่ในอันดับ 1 ถึง 2 ปีติดต่อกัน เพราะเป็นจังหวัดที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางได้ครบทุกสไตล์ ภาครัฐจึงควรสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีใหม่ปลอดภัยจากโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ชูจุดเด่นการเป็นทั้งที่เที่ยวและที่ทำงาน (Workation) ให้สอดรับกับนโยบายการทำงานที่บ้าน กระตุ้นกำลังการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อชดเชยการชะลอตัวจากตลาดต่างประเทศ สร้างความมั่นใจให้นักเดินทางกล้าที่จะเดินทางท่องเที่ยวและกล้าที่จะใช้จ่ายเงินในกระเป๋า เพื่อให้ภาพการท่องเที่ยวในประเทศมีความสดใสและปลอดภัยจากโควิด-19 ไปพร้อม ๆ กัน               

ดุจตะวัน กันไทยราษฎร์ อาจารย์ประจำโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มองว่า การท่องเที่ยวในยุคโควิด-19 มีแนวโน้มว่าคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่พร้อมเดินทางมากนัก เพราะยังลังเลกับสถานการณ์โควิด-19 และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Omicron ที่ยังน่าเป็นห่วง รวมถึงมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจทั้งส่วนตัวและส่วนรวม แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเปลี่ยนสถานที่หลีกหนีจากความจำเจในชีวิตประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการท่องเที่ยว จึงเชื่อว่ากระแสการออกเดินทางน่าจะยังคึกคักขึ้นกว่าเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว 

สถานการณ์ \"โอมิครอน\" กับคนไทย และท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การคลายล็อคในหลายธุรกิจและจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการท่องเที่ยวยังช่วยผ่อนคลาย ช่วยเติมพลังเติมกำลังใจซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ จะทำให้ผู้คนเริ่มวางแผนสำหรับปีใหม่โดยเลือกวิธีและการใช้จ่ายที่เหมาะกับตัวเอง โดยเทรนด์สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมจะเป็นที่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เน้นความเรียบง่าย ไม่แออัดรวมถึงใส่ใจในความปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 เป็นสำคัญ 

สถานการณ์ "โอมิครอน" ในไทยนั้น ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ขณะนี้มีการระบาดของเชื้อเดลตาที่ครองพื้นที่ และมีโอมิครอนเข้ามา หากคน ๆ หนึ่งติดเชื้อ2 สายพันธุ์อะไรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิดลูกผสมหรือไฮบริด อาจจะก่อให้เกิดลักษณะเด่นพิเศษที่ไม่เหมือนโอมิครอน ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าหากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมของเชื้อ 2 ตัวในร่างกายคนๆ เดียว จะส่งผลต่อการแพร่กระจายรวมถึงจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง จึงต้องสุ่มตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวัง

"ที่ผ่านมาเคยพบเพียงการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ทั้งเดลตาและอัลฟาในคนเดียวกันที่คสัสเตอร์แคมป์คนงานที่กรมวิทย์ฯ เคยรายงาน แต่ไฮบริด 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกันที่มีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิดลูกผสมขึ้นมายังไม่เคยเกิดขึ้น และจากข้อมูลที่ผ่านมาในต่างประเทศเคยมีการผสมแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ในคนๆเดียวระหว่างเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ผสมกับไข้หวัดธรรมดา แต่ไม่พบอาการรุนแรง ดังนั้นการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในจำนวนมากๆ เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อพบความผิดปกติจะได้ควบคุม หากพบในคลัสเตอร์ใด กรมควบคุมโรคก็ต้องรีบเข้าไปบริหารตัดตอนไม่ให้เกิดการแพร่กระจายออกไป"

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอมิครอน (Omicron) ยืนยันแพร่กระจายได้เร็วและการฟุ้งลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่าเดลตา สามารถหนี "วัคซีนโควิด" ได้หมด

"คำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้คือถ้ามีติดเชื้อเดลตากับโอมิครอนในคนเดียวกันจะเกิดอะไรขึ้นหรือกับไวรัสในตระกูลอื่น? การติดเชื้อลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ข้อมูลมีมาในระยะเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลแต่ที่ต้องการออกซิเจนหรืออาการหนักจะดูไม่มาก แต่ถ้าติดเชื้อคนจำนวนเป็น 100,000 หรือล้าน สัดส่วนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว" 

ส่วนวัคซีนจะเอาอยู่หรือไม่  กิลี เรเจฟ-โยเชย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ชีบา  และสถาบันไวรัสวิทยาของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศอิสราเอล ประเมินการฉีดวัคซีนโควิดของไฟเซอร์ เป็นเข็มที่สาม สามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ และมองว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองเมื่อ 5 หรือ 6 เดือนที่แล้ว ไม่มีความสามารถในการทำให้สายพันธุ์โอมิครอนเป็นกลาง ขณะที่พวกเขามีบางอย่างที่ต่อต้านสายพันธุ์เดลตา และอื่นๆได้

"ข่าวดีก็คือว่า การฉีดวัคซีนบูสเตอร์จะเพิ่มภูมิคุ้มกันขึ้นประมาณร้อยเท่า ซึ่งระดับการป้องกันที่สูงขึ้นมีความหมายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะความสามารถต่ำกว่าการทำให้เดลตาเป็นกลาง ประมาณสี่เท่า"

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่ายังคงติดตามความคืบหน้าของ "วัคซีน" ในการทดลองกับ "โอมิครอน" จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน คนไทยจำนวนไม่น้อยยังหวั่นกลัวโควิดระบาดใหญ่เหมือนเทศกาลช่วงวันหยุดยาวเหมือนปีที่ผ่านมา จึงทำให้สิ้นปีนี้ยังแบ่งรับแบ่งสู้ในการออกจากบ้านไปเที่ยวกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็คือว่า การใช้ชีวิตประจำวันนั้น เพื่อการดำรงชีพทำมาหากินและค้าขาย ซึ่งเริ่มเห็นภาพกิจกรรม งานอีเวนท์เพิ่มขึ้นตามที่รัฐได้ผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดประเทศเปิดเมือง

ทำให้ผู้เขียนประเมินว่า แม้โอมิครอนจะเข้ามายึดครองประเทศไทยแทนเดลตาหรือไม่ก็ตาม แต่วิถีการอยู่กับโรคระบาดของคนไทย ได้ปรับตัวมาต่อเนื่อง ซึ่ง "บทเรียน" ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการรับมือ ย่อมน่าจะเข้าใจสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลง บนเงื่อนไข ”การ์ดอย่าตก” ก็อาจช่วยทำให้การสูญเสียชีวิตและทางเศรษฐกิจไม่หนักเท่าวิกฤติที่ผ่านมาแล้ว.

...
 

อ้างอิง