ลงทุนแบบไหน ช่วยลดหย่อนภาษี

ลงทุนแบบไหน ช่วยลดหย่อนภาษี

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี ซึ่งก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่หลายๆ คนกำลังวางแผนทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของตัวเอง และมองหาตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีสำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) ประจำปีภาษี 2564

โดยกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ จะอยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมของปีหน้า การที่เราได้เตรียมตัววางแผนทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของตนเองไว้ล่วงหน้า ช่วยให้เราสามารถประหยัดภาษีได้มากขึ้น เพราะจากรายได้รวมทั้งปีที่เราได้รับ เราจะมีสิทธินำค่าลดหย่อนที่อยู่ในกลุ่ม “ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว” ที่สามารถนำมาหักออกได้ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทต่อปี ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา 30,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นต้น ซึ่งเป็นค่าลดหย่อนตามสิทธิของแต่ละคนที่บุคคลธรรมดาสามารถนำมาใช้ได้

นอกจากกลุ่มค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวที่เป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานแล้ว เรายังมีทางเลือกในกลุ่มค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนอย่าง SSF และ RMF รวมถึงประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

สำหรับปีภาษี 2564 เพื่อเป็นแนวทางการบริหารภาษีบุคคลธรรมดาและวางแผนการลงทุนส่วนบุคคลไปพร้อมๆกัน

  • กลุ่มกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี เช่น SSF และ RMF เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนแต่อาจไม่มีเวลาศึกษามากนัก โดยการลงทุนของเราจะมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยบริหารการลงทุนให้ สำหรับกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีนี้ นอกจากจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ตอบโจทย์เรื่องการออมและวางแผนการเกษียณแล้ว เรายังสามารถนำเงินที่สะสมเข้ากองทุนฯ มาลดหย่อนภาษีได้ด้วย โดยสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับค่าลดหย่อนในกลุ่มการลงทุนเพื่อการออมและการเกษียณ มีดังนี้
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท ทั้งนี้ จำนวนเงินสะสมเข้ากลุ่มกองทุนฯ ดังกล่าวข้างต้น เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ การทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตนั้น จุดประสงค์หลักของผู้ทำประกัน คือ ต้องการความอุ่นใจในการได้รับคุ้มครอง หากเราเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต เรายังมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลและเงินผลประโยชน์ให้แก่ผู้รับประโยชน์ในครอบครัวหรือทายาทได้ด้วย นอกจากนี้ เรายังสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่ได้จ่ายไป มาหักลดหย่อนภาษีได้

สำหรับเบี้ยประกันที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้

เบี้ยประกันชีวิต (ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

- เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท

ทั้งนี้ ยอดรวมของเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพ รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกับเงินสะสมของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนรวม RMF, กองทุนรวม SSF และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เราสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาที่ได้จ่ายไป มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี

จะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมและประกันชีวิต ถือเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่สามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านผลตอบแทนและความคุ้มครอง อีกทั้งเงินที่ลงทุนไปยังนำไปลดหย่อนภาษีได้ และหากเรานำเงินที่ได้จากการประหยัดภาษีนั้นไปลงทุนต่อ เรายังสามารถเพิ่มความมั่งคั่งของเงินออมระยะยาวไว้ใช้ในยามเกษียณได้อีกด้วย และที่สำคัญคือ เราควรศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ทางภาษี เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของตนเองได้อย่างถูกต้องครบถ้วน