สรุปการประชุมว่าด้วยภูมิอากาศ COP26 | ไสว บุญมา

สรุปการประชุมว่าด้วยภูมิอากาศ COP26 | ไสว บุญมา

การประชุมเพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สรุปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากปรึกษาหารือและถกเถียงกันอยู่ 2 สัปดาห์ การประชุมต้องใช้เวลาเพิ่ม 1 วัน

เนื่องจากบางประเทศไม่ยอมลงนามในเอกสารสรุปผลการประชุมหากไม่เปลี่ยนคำในข้อความสำคัญยิ่ง ได้แก่ “ยกเลิก” (phase out) การใช้ถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด  อินเดียสนับสนุนโดยจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 3 และ 1 ตามลำดับเพราะใช้ถ่านหินมากจะไม่ยอมลงนามในเอกสารดังกล่าวหากไม่เปลี่ยนคำนั้นเพราะมันหมายถึงตนต้องเลิกใช้ถ่านหินในวันข้างหน้าถึงแม้จะยังไม่ระบุกำหนดเวลาก็ตาม

    หลังจากต่อรองกันอยู่นาน รัฐบาลทั่วโลกยอมรับคำที่อินเดียเสนอให้ใช้แทนได้แก่ “ลดลง” (phase down) ซึ่งเป็นคำที่กำกวมมากจนจะไม่ทำให้เกิดผลตามต้องการในการป้องกันมิให้อุณหภูมิของผิวโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซนติเกรดเมื่อเทียบกับระดับเมื่อก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การใช้คำดังกล่าวทำให้ประธานการประชุม “อโลก ชาร์มา” ถึงกับน้ำตาร่วงในการแถลงปิดประชุมเพราะรู้อยู่แก่ใจว่า มันหมายถึงชาวโลกจะต้องเผชิญกับความหายนะจากภาวะโลกร้อน ถึงแม้นักการเมืองหลายคนจะพยายามฉายภาพว่าการประชุมประสบผลสำเร็จสูงก็ตาม
    นักการเมืองดังกล่าวและประธานการประชุมมองผลของการประชุมแบบแทบคนละขั้ว  นักการเมืองอ้างว่า การประชุมครั้งนี้มีความคืบหน้ามากต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อ 6 ปีก่อนและกระบวนการต่อรองกันจะมีต่อไปจนเมื่อประเทศต่าง ๆ นัดพบกันอีกครั้งปีหน้า  ส่วนประธานการประชุมคงยึดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และแผนงานของรัฐบาลต่าง ๆ เป็นฐานของการประเมิน  
    คอลัมน์นี้เคยรายงานแล้วว่า "แกมเบีย" ซึ่งมีประชากรเพียง 2 ล้านคนเป็นประเทศเดียวที่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุมเมื่อ 6 ปีก่อน

ส่วนประธานการประชุมคงยึดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และแผนงานของรัฐบาลต่างๆ เป็นฐานของการประเมิน  
    คอลัมน์นี้เคยรายงานแล้วว่า แกมเบียซึ่งมีประชากรเพียง 2 ล้านคนเป็นประเทศเดียวที่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุมเมื่อ 6 ปีก่อน  หากมองประเทศขนาดใหญ่ในปัจจุบัน มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีแผนงานแบบเป็นรูปธรรมสำหรับสนับสนุนเป้าหมายในด้านการยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แก่ เยอรมนีจะยุติในปี 2588 และญี่ปุ่นในปี 2593  ส่วนประเทศอื่นแถลงว่าตนมีนโยบาย หรือเป้าหมายจะทำต่อไปแต่ขาดแผนงาน  จึงอาจประเมินได้ว่าถ้อยแถลงนั้นมีค่าเพียงลมปาก
    สื่อรายงานความเป็นไปในการประชุมนั้นอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้เข้าร่วมประชุมนับหมื่นคนเป็นเวลา 2 สัปดาห์นั้นมีใครพูดถึงภาวะน้ำท่วมเมืองเวนิสซึ่งกำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันอย่างเป็นทางการหรือไม่  

ปัจจัยหลายอย่างทำให้เวนิสประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยขึ้นและหนักขึ้น  รัฐบาลเพิ่งทุ่มทุนก้อนใหญ่สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมใหม่ แต่ก็ดูจะได้ผลเพียงจำกัด ทั้งนี้เพราะระดับน้ำทะเลยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะภาวะโลกร้อน  เมื่อชาวโลกไม่สามารถป้องกันมิให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซนติเกรดได้ เวนิสจะต้องถูกน้ำท่วมหนักขึ้นต่อไปแน่นอน
    นอกจากเวนิสแล้ว รายงานขององค์กรกลางทางภูมิอากาศบ่งว่า ยังมีเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกอีก 8 เมืองที่จะถูกน้ำท่วมแสนสาหัสเมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นต่อไปถึงราว 1 เมตรในคริสต์ศตวรรษนี้รวมทั้งอัมสเตอร์ดัมและกรุงเทพฯ  
             ชาวฮอลแลนด์ตระหนักมานานแล้วว่าประเทศของเขาจะต้องถูกน้ำท่วมหนักนอกจากอัมสเตอร์ดัม ทั้งนี้เพราะพื้นที่หลายส่วนของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล  ถึงแม้พวกเขาจะมีความเชี่ยวชาญมานานในด้านการสู้กับน้ำทะเลถึงกับสามารถนำพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาใช้ได้ แต่พวกเขาจะไม่สามารถป้องกันมิให้พิ้นที่นั้นถูกน้ำท่วมหนักต่อไปได้ทั้งหมด  

         ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงยอมปล่อยให้น้ำทะเลกลืนพื้นที่บางส่วนไปพร้อมๆ กับพยายามศึกษาหาทางออกอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่น การสร้างอาคารและบ้านเมืองแบบสะเทินน้ำสะเทินบก  อาจคาดได้ว่าในอนาคต ส่วนหนึ่งของอัมสเตอร์ดัมจะต้องปรับใช้แนวคิดใหม่นี้ด้วย
    ในบรรดา 9 เมืองที่องค์กรกลางทางภูมิอากาศอ้างถึง เวนิสและอัมสเตอร์ดัมดูจะตื่นตัวและนำหน้าในด้านการหาทางรับมือกับภัยร้ายแรงอย่างจริงจัง  ส่วนอีก 7 เมืองรวมทั้งกรุงเทพฯ ดูจะพูดถึงการจะประสบปัญหาสาหัส  แต่ก็ดูจะหยุดแค่การพูดถึง  ในวันหนึ่งข้างหน้า บางส่วนของเมืองจึงจะจมบาดาลแบบถาวร.