บิล เกตส์ กับการประชุมภูมิอากาศ COP26 | ไสว บุญมา

บิล เกตส์ กับการประชุมภูมิอากาศ COP26 | ไสว บุญมา

การประชุมใหญ่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผู้นำประเทศจำนวนมากรวมทั้งนายกรัฐมนตรีของไทยร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และให้คำมั่นสัญญาว่าประเทศของตนจะทำอะไร เพื่อช่วยป้องกันมิให้อุณหภูมิบนผิวโลกเพิ่ม จนมนุษย์อยู่ไม่ได้

ผู้นำของบางประเทศที่มีบทบาทสูงมากในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น ให้ความสำคัญแก่การประชุมนี้เพียงจำกัด จึงไม่ไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์และให้คำมั่นสัญญาด้วย เช่น จีน รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย นอกจากผู้นำทางด้านการเมืองแล้ว มีผู้นำทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจำนวนมากไปร่วมประชุมด้วย รวมทั้งนักเคลื่อนไหวในระดับเยาวชนชั้นนำ “เกรตา ธันเบิร์ก” และอภิมหาเศรษฐี “บิล เกตส์”

ผมติดตามความเคลื่อนไหวในด้านต่างๆ ของบิล เกตส์ มานาน รวมทั้งด้านแนวคิดของเขา จึงได้นำเอาเรื่องราวของเขามาเล่าไว้ในหนังสือชื่อ “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” พิมพ์เมื่อปี 2543 (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) นอกจากนั้นยังได้นำหนังสือที่เขาเขียน 2 เล่มมาทำบทคัดย่อภาษาไทยให้ดาวน์โหลดฟรีได้ในเว็บไซต์เดียวกันอีกด้วย คือเรื่อง The Road Ahead (พิมพ์ปี 2538) และเรื่อง Business@The Speed of Thought (พิมพ์ปี 2542) เมื่อต้นปีนี้ เขาพิมพ์หนังสือเล่มล่าสุดออกมาชื่อ How to Avoid a Climate Disaster ซึ่งผมยังไม่มีโอกาสนำมาทำบทคัดย่อภาษาไทยเพื่อปันกัน

บิล เกตส์ เขียนหนังสือเล่มล่าสุดออกมาเพราะมองว่า ภาวะโลกร้อนมีความสำคัญถึงขั้นทำลายมนุษยชาติได้ เขาให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ไม่ต่ำกว่าเรื่องที่เขาทุ่มเททั้งเวลาและทรัพยากรนับหมื่นล้านดอลลาร์ให้ ได้แก่ เรื่องโรคร้ายต่างๆ ที่กำลังคุกคามมนุษย์รวมทั้งเชื้อโรคร้ายล่าสุดโควิด-19 

บิล เกตส์ ได้ทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้แก่การป้องกันภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังมาหลายปีแล้ว และไปร่วมการประชุมดังกล่าว 3 วัน เขาได้เขียนบทความสั้นๆ เพื่อปันเรื่องกิจกรรมและมุมมองของเขาทั้งวันก่อนไปร่วม ในระหว่างการประชุมและหลังออกมาจากการประชุมแล้ว ขอนำแก่นของบทความของเขามาปันในวันนี้

ก่อนไปร่วมประชุม บิล เกตส์ พูดถึงเรื่องนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเขามองว่าแทบไม่ได้รับความสำคัญก่อนการประชุมใหญ่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศครั้งที่แล้วเมื่อ 6 ปีก่อน แต่หลังจากนั้น ชาวโลกให้ความสำคัญแก่มันอย่างจริงจัง

ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ อย่างไรก็ดี ยังมีโจทย์หินหลายข้อที่ชาวโลกจะต้องหาคำตอบให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำอย่างไรให้ต้นทุนของผลผลิตจากเทคโนโลยีใหม่ลดลง จนแข่งขันกับเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วได้และชาวโลกเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง

ในระหว่างการประชุม บิล เกตส์พูดถึงเรื่องความพยายามของเขาด้านการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อเอื้อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่พร้อมกับลดต้นทุนของมันด้วย ในกระบวนการนี้ เขารวบรวมเงินทุนได้แล้ว 2 พันล้านดอลลาร์ และในอนาคตอันใกล้น่าจะได้อีก 3 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น มูลนิธิของเขาเพิ่งบริจาคเงิน 315 ล้านดอลลาร์ให้แก่โครงการด้านความมั่นคงทางอาหารที่ใช้เทคโนโลยีสีเขียว หรือเทคโนโลยีที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกต่ำ

หลังจากเข้าร่วมประชุม 3 วัน บิล เกตส์รายงานว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการประชุมใหญ่ครั้งที่แล้ว ทั้งในด้านการให้ความสำคัญแก่การแสวงหาและใช้เทคโนโลยีใหม่ ด้านการให้ความร่วมมือมากขึ้นของภาคเอกชน และด้านการช่วยเหลือประเทศยากจน ซึ่งผลิตก๊าซเรือนกระจกเพียงน้อยนิดแต่ได้รับผลร้ายสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศร่ำรวย ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองว่าการป้องกันมิให้โลกร้อนขึ้นจนถึงขั้นทำลายมนุษยชาติมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้น

กิจกรรมและมุมมองของบิล เกตส์ ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเขาเป็นมหาเศรษฐีที่ให้ความสำคัญยิ่งแก่สิ่งที่เป็นอันตรายแก่ชาวโลก เขามิได้พูดเพียงอย่างเดียว หากลงมือทำอย่างจริงจังด้วย

หากมหาเศรษฐีส่วนใหญ่มองโลกเช่นเขามอง และเข้าร่วมกิจกรรมในแนวที่เขาทำมานาน  โลกนี้ย่อมมีโอกาสอยู่รอดจากภาวะโลกร้อนมากขึ้นแน่ จึงมีคำถามตามมาว่ามีมหาเศรษฐีกี่คนทำตามแนวของบิล เกตส์?