โควิด-19 พลิกผันโลกอย่างไร? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

โควิด-19 พลิกผันโลกอย่างไร? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

โควิด-19 อยู่กับโลกมา 2 ปีกว่าแล้ว และมีทีท่าว่าจะอยู่ต่อไป การระบาดของโรคโควิด-19 จากโคโรนาไวรัส เป็นเหตุการณ์ประเภท (known unknown) คือ เหตุการณ์ที่รู้ว่าอาจจะอุบัติขึ้นได้ แต่ไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้าอย่างแน่นอนว่าจะเกิดขึ้น จากอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร

โรคโควิด-19 เป็นเหตุการณ์พลิกผันระดับอารยธรรมโลกอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกว่าวิถีใหม่หรือนิวนอร์มอล (new normal) เช่น เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มมีระบบภาษีที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อนำมาใช้ฟื้นฟูประเทศและในที่สุดก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น ประเทศในยุโรป (Schwab และ Malleret 2020)
    ในครั้งนี้ โควิด-19 เป็นเหตุการณ์พลิกผันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับมนุษยชาติ หลังสงครามโลกครั้งที่สองและหากเปรียบเทียบกันระหว่างโรคระบาดที่เคยมีมาในอดีตก็นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากการเกิดของไข้หวัดสเปน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 17-100 ล้านคน (ปราณี ทินกร, 2563) ในช่วงเวลาปี 2461-2463

ธนาคารเอเชียประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ปี 2563 ของการระบาดในเอเชียสูงถึงร้อยละ 6.2 ถึง 9.3 ของ GDP ของเอเซีย และคิดเป็นมูลค่า 1.7 ถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราส่วนความเสียหายใกล้เคียงกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจของโลกที่คาดว่าอยู่ในระดับร้อยละ 6.4 ถึง 9.7 ของ GDP โลก (ธนาคารพัฒนาเอเชีย, 2563)
    ปัญหาสำคัญที่เกิดจากการหดตัวลงของเศรษฐกิจโลกก็คือ การว่างงานของประชาชน ซึ่งคาดการณ์ว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักจะอยู่ในระดับร้อยละที่เป็นสองหลักขึ้นไป (Schwab and Malleret, 2020)

โควิด-19 พลิกผันโลกอย่างไร? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

สำหรับการท่องเที่ยวจะมีการใช้แรงงานสุทธิจากการที่เพิ่มการใช้แรงงานที่มีทักษะและลดการใช้แรงงานที่ไร้ทักษะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร้อยละ 10 และในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกันที่มีกิจกรรมที่ต้องติดต่อมีปฏิสัมพันธ์ต่อลูกค้าลดลงร้อยละ 14 ผู้หญิง แรงงานอายุน้อย และแรงงานต่างชาติจะมีแนวโน้มที่ได้รับผลกระทบมากกว่านี้
    โลกเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์เร็วขึ้น เรื่องน่ากังวลมากกว่า คือ หลังจากนั้นจะมีแนวโน้มของการทดแทนแรงงานด้วยเครื่องจักรกล (Robotic Process Automation) จะมากขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ระบบการผลิตสินค้าและบริการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลเร็วขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากความจำเป็นของการรักษาระยะห่าง การลดการเดินทางซึ่งเกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทำให้ทุกอย่างจะต้องมีการควบคุมทางไกล การค้าขายส่วนใหญ่ต้องผ่านระบบ e-Commerce 

ปัญหาการขาดแคลนและความปลอดภัยในการใช้แรงงานในช่วงการระบาดทำให้มีการใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์มากขึ้น นักวิชาการของมหาวิทยาลัย Oxford ได้ประเมินไว้ว่าภายในปี 2578 ประมาณร้อยละ 86 ในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ร้อยละ 75 ของงานในอุตสาหกรรมค้าปลีกจะมีการใช้หุ่นยนต์ (อ้างใน Schwab และ Mallleret, หน้า 123)
    การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ของโลกและเทคโนโลยีด้านสุขภาพรวดเร็วขึ้น ลึกซึ้งขึ้นและแพร่ขยายมากขึ้น ตั้งแต่เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไบโอเทคโนโลยีซึ่งทำให้สามารถเร่งรัดการสร้างวัคซีนโดยวิธีการใหม่ๆ เช่น เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) การค้นคว้าเรื่องยารักษาโรค การใช้เทคโนโลยีด้านไบโอเม็ตทริกในการตรวจสอบหรือตรวจวัดต่างๆ 
    โควิด-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตการศึกษาและการทำงาน ผู้คนทั่วไปจะสนใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การรักษาระยะห่างทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันและการทำงานมากขึ้น สถาบันแมกเคนซีโกลเบิล (2564) ประเมินว่าประมาณร้อยละ 70 ของเวลางานจะทำที่บ้านได้ การแพทย์ทางไกล การค้าดิจิทัล การสอนและการประชุมทางไกลมีบทบาทมากขึ้นและอาจเปลี่ยนภูมิทัศน์อุตสาหกรรมและการให้บริการทั้งหมด 
    ในโลกปัจจุบันที่มีโทรศัพท์อัจฉริยะถึง 5.2 พันล้านเครื่อง การเผยแพร่ข่าวสารผ่านระบบออนไลน์ขยายตัวมากขึ้น หลังจากการระบาด รัฐบาล และผู้นำ บริษัทในภาคเอกชนและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมจะตกเป็นเป้าความสนใจของสาธารณชนง่ายขึ้นและมากขึ้น

เครื่องอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์พกพา จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์เช่นเดียวกับอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ Nadella ผู้เป็น CEO ของบริษัทไมโครซอฟท์มีความเห็นว่าระบบเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเชื่อมต่อทางไกลจะถูกเร่งให้มีการประยุกต์ใช้เร็วขึ้นสองปี โลกจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไร้สัมผัส (Touchless economy) และเรื่องที่เป็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อกังวลของ Shoshana Zuboff ว่าโลกอาจจะเข้าสู่ยุคของทุนนิยมเฝ้าระวัง (Surveillance capitalism) ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นจากความไม่สมมาตร (ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย) ด้านความรู้และอำนาจซึ่งเกิดจากความรู้

โควิด-19 พลิกผันโลกอย่างไร? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
    โควิด-19 ตอกย้ำปัญหาสังคมและการเมือง ปัญหาทางสังคมที่เป็นผลพวงของโควิด-19 ได้แก่ ความยากจนที่มาเยี่ยมเยือนโดยฉับพลัน และการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากนโยบายการผ่อนปรนทางการเงินที่รัฐบาลของนานาประเทศมุ่งกอบกู้เศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเงินและอสังหาริมทรัพย์ 
    ยิ่งหากรัฐบาลควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ก็อาจจะทำให้ปัญหาสังคม ความไม่สงบทางการเมืองและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในบางประเทศที่มีอยู่แล้วรุนแรงขึ้น ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้มีจากการจลาจลต่อต้านรัฐบาลในประเทศต่างๆ อยู่แล้ว

เช่น การจลาจลของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสและในประเทศกำลังพัฒนาในโบลิเวีย ซูดาน แม้โควิด-19 จะทำให้การสงบพวกนี้ถูกสยบอยู่ชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาด แต่หลังจากนั้น โศกนาฏกรรมจากโควิด-19 และความยากแค้นที่ตามมาจะช่วยสุมไฟของความไม่พอใจที่สะสมมาอยู่เดิมจนความอดกลั้นของประชาชน จะมาถึงจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ความไม่สงบทางสังคมนั้นรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังที่เห็นเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในกรณีที่คนดำถูกตำรวจฆ่าตายจนกลายเป็นจลาจล Black Lives matter 
    ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หากมัวแต่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันเอง คนรุ่นใหม่เขาไม่อดทนรอเหมือนคนรุ่นเก่าแล้ว!