อาลัย “อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร” | บัณฑิต นิจถาวร

อาลัย “อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร” | บัณฑิต นิจถาวร

ข่าวการจากไปของ อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร หรือ “อาจารย์โกร่ง” สร้างความสะเทือนใจให้กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในแวดวงเศรษฐศาสตร์ เพราะอาจารย์วีรพงษ์เป็นมันสมองของประเทศเรื่องเศรษฐกิจ ที่สร้างคุณประโยชน์และความดีงามมากมายให้กับประเทศ

อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร มีบทบาทด้านเศรษฐกิจที่เป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่องที่น้อยคนจะทำได้ เป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการเศรษฐศาสตร์ของประเทศ ในด้านวิชาการ อาจารย์เป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่เป็นรุ่นบุกเบิก ในการสร้างแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคสำหรับประเทศไทยโดยวิธีเศรษฐกิจมิติ และใช้แบบจำลองวิเคราะห์และประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจ 
    อาจารย์จึงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจเศรษฐศาสตร์มหภาคและการทำงานของระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างดี รวมถึงเข้าใจถึงข้อจำกัดการทำนโยบาย ซึ่งน้อยคนนักจะมีความลึกซึ้งเช่นนี้ มีความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของท่านในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งการพูดและเขียน ทำเรื่องยากที่มักไม่เข้าใจกัน เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจและถกเถียงกันได้ด้วยเหตุและผล 

ทำให้อาจารย์วีรพงษ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนที่สังคมไทยให้การยอมรับต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการวิเคราะห์และประเมินภาพเศรษฐกิจ ซึ่งอาจารย์เคยพูดว่า “อนาคตไม่มีใครรู้ แต่ทำนายได้” สะท้อนว่า ถ้าเรามีความรู้และความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เราก็จะสามารถประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งสำคัญทั้งต่อการทำนโยบายและการตัดสินใจของธุรกิจ 

    ผมรู้จักชื่อ อาจารย์วีรพงษ์ ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย พอมาสอนหนังสือที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับอาจารย์วีรพงษ์ ในโครงการ UN-World Link Project ซึ่งมีศาสตราจารย์ Lawrence Klein แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิเวเนีย ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์วีรพงษ์เป็นหัวหน้าโครงการ  

อาจารย์วีรพงษ์ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาคของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ และเป็นผู้ประสานงานโครงการนี้ เป็นครั้งแรกที่ผมได้ร่วมงานและประทับใจในความรู้และความสามารถของอาจารย์วีรพงษ์ จากนั้นก็ได้ร่วมงานในทีมเศรษฐกิจมหภาคของทีดีอาร์ไอ มีอาจารย์วีรพงษ์ เป็นหัวหน้าพร้อม ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ที่เพิ่งกลับมาจากธนาคารโลก ทำการวิเคราะห์และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นระบบ นี่คือเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน 

    การได้ร่วมงานกับอาจารย์วีรพงษ์ ทำให้ผมได้ความรู้และได้รับความเมตตาจากอาจารย์ในหลายโอกาส  ช่วงที่ผมทำงานที่ไอเอ็มเอฟ กรุงวอชิงตัน ดีซี อาจารย์ก็เมตตาแวะมาเยี่ยม ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ เมื่อผมมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็พบท่านบ่อยขึ้น และประทับใจในการทำงานของท่านในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

เห็นความทุ่มเทที่อาจารย์มีต่อการทำงานเพื่อให้ประเทศชาติดีขึ้น ประทับใจในวิธีคิดและในศิลปะการพูดและอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจเหตุผลและความเห็นของท่าน เป็นตัวอย่างของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม ที่สำคัญ แม้ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองหรืออิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบาย อาจารย์วีรพงษ์ก็ทำหน้าที่ของอาจารย์ในการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจ เลือกจังหวะที่เหมาะสมในการแสดงความเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจและให้เกิดผล เป็นตัวอย่างของนักวิชาการที่ซื่อตรงต่อหน้าที่ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

    มองย้อนกลับไป ความเป็นตัวตนของอาจารย์วีรพงษ์ มีหลายเรื่องที่ผมประทับใจและอยากแชร์ให้ทราบทั่วกัน
หนึ่ง ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยอมรับ นั่นคือ แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับโอกาสของคนในระบบเศรษฐกิจ ที่จะสร้างความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น ด้วยความรู้ ความสามารถและวิริยะอุตสาหะ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น คือ แนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยม ที่ส่งเสริมการแข่งขัน การทำงานของระบบเศรษฐกิจตามกลไกตลาด ลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ และมุ่งทำนโยบายเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ที่ไม่ใช่เฉพาะเสถียรภาพด้านการเงิน แต่หมายถึงการเติบโตที่ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ที่ดีและความยากจนลดลง เป็นภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ “อาจารย์โกร่ง” ให้ความสำคัญมาตลอด เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน น่ายินดีว่า นักเศรษฐศาสตร์ในบ้านเรานับวันจะสนับสนุนแนวคิดนี้มากขึ้นๆ

    สอง ความเป็นครูบาอาจารย์ ที่ให้ความสำคัญกับการใฝ่หาความรู้และการถ่ายทอดความรู้ ขณะเดียวกันก็พร้อมช่วยเหลือให้โอกาสคนให้สามารถมีความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน

ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมได้ขึ้นเวทีสัมมนาในต่างประเทศ ก็มาจากการสนับสนุนของอาจารย์วีรพงษ์ให้ผมเข้าร่วมประชุมนานาชาติเรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศญี่ปุ่น จัดโดยหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจญี่ปุ่น (EPA)  

อีกประเด็นคือ อาจารย์วีรพงษ์จะไม่ยอมรับเรื่องไม่ถูกต้องและส่งเสริมการแสดงความเห็นและการสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆ เพื่อให้สังคมสามารถเข้าใจและตัดสินได้ด้วยตนเองว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การทำนโยบายที่ดี ซึ่งอาจารย์วีรพงษ์เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้มาตลอด นั้นคือบทบาทนักวิชาการที่แสดงความเห็นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม 

    สาม การทำหน้าที่พลเมืองที่อาจารย์วีรพงษ์มีความรักต่อประเทศ ต้องการเห็นประเทศดีขึ้นและพร้อมแสดงตนไม่สนับสนุนเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ช่วงอยู่ทีดีอาร์ไอ ผมสังเกตว่าอาจารย์มีความสุขกับการทำงานเพื่อประเทศชาติ และยิ่งดูมีความสุขเมื่อได้ทำงานให้กับผู้ที่ท่านนับถือ ที่จริงใจและสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นได้ นั่นคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งช่วงที่อาจารย์เป็นผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาคของทีดีอาร์ไอ ท่านก็เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

ผมจำได้ว่าหลายครั้งที่ทีดีอาร์ไอ เราเห็นอาจารย์วีรพงษ์นั่งทำงานอยู่ในห้องทำงานตลอดบ่าย ไม่ไปไหนจนเย็น ไม่มีใครรบกวน นั่งเขียนบันทึกอยู่คนเดียวด้วยลายมือ ซึ่งเดาว่าคงเป็นบันทึกเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีเรื่องเศรษฐกิจ ถามท่านว่า อาจารย์นั่งทำอะไร สงสัยเป็นเรื่องสำคัญ ท่านก็ไม่ตอบ ได้แต่ยิ้มและหัวเราะเบาๆ อย่างที่เราเคยเห็น คือ ท่านมีความสุขกับงานที่ทำ 

    ขอให้อาจารย์หลับสบายในสัมปรายภพ จิตสงบ สว่างใสในแดนสรวง ปราศกังวลสิ่งสับสนทั้งปวง  เด่นดุจดวงสุรีย์ฉาย ณ ปลายฟ้าฯ.