นักเศรษฐศาสตร์เชิดชู "วีรพงษ์" ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ไทย

นักเศรษฐศาสตร์เชิดชู "วีรพงษ์" ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ไทย

ประเทศไทยสูญเสียบุคคลทางเศรษฐกิจ-การเมืองครั้งสำคัญ กับการจากไปของ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” หรือที่รู้จักกันดีว่า “ดร.โกร่ง” ที่ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยวัย 78 ปี 

ชีวิตการทำงานของ “ดร.วีรพงษ์”  เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นนักวิชาการ เป็นกุนซือ 7 รัฐบาล เป็นยุคเริ่มต้นของเทคโนแครตเมื่อหลายสิบปีก่อน บุคคลสำคัญๆ ที่ได้คลุกคลี ทำงานร่วมกับ ดร.วีรพงษ์ ต่างก็ยกให้เป็นหนึ่งคนสำคัญของประเทศ ที่นำพาประเทศ ผ่านวิกฤติมาแล้วนับไม่ถ้วน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสิ่งที่สังคมจดจำในความเป็น ดร.วีรพงษ์ ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ว่า ดร.วีรพงษ์เป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เป็นคนที่สามารถเห็นภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจน และรัฐบาลสามารถที่จะฟัง และนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตนมองว่า ประเทศชาติก็เป็นหนี้ ดร.วีรพงษ์เหมือนกัน ที่ได้ช่วยให้พ้นภัยเศรษฐกิจในอดีตมาได้

“อยากบอกว่า ประเทศชาติได้เสียคนดีคนหนึ่งไป คนที่จะเห็นภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจน และรัฐบาลสามารถที่จะฟัง และนำไปใช้ประโยชน์ได้ และเราเสียคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ซึ่งประเทศชาติก็เป็นหนี้ ดร.วีรพงษ์เหมือนกันที่ได้ช่วยให้พ้นภัยเศรษฐกิจในอดีตมาได้”

เขายกตัวอย่างว่า ในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งตอนนั้นเราขาดดุลการค้ามาก และสถานการณ์เครดิตและเศรษฐกิจไม่ค่อยดี การส่งออกตกต่ำมาก ตอนนั้น ดร.วีรพงษ์ได้เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ให้ลดค่าเงินบาทตอนนั้น ปรากฏได้ผลเป็นอย่างมาก ทำให้ยอดส่งออกที่กำลังแย่ลง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดุลการชำระเงินก็ไม่ขาดดุล พลิกจากลบมาเป็นบวก ประเทศไทยฟื้นกลับมาได้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดตอนนั้น

ต่อมาก่อนที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ดร.วีรพงษ์ได้พยายามไปพูดในที่ต่างๆ ว่า ประเทศไทยจะต้องลดค่าเงินบาทอีกครั้ง ถ้าไม่ทำจะเกิดวิกฤติทางค่าเงินและวิกฤติเศรษฐกิจ

ซึ่ง ดร.วีรพงษ์ พูดทำนายไว้ถูกมาก เพียงแต่ตอนนั้นความเห็นของ ดร.วีรพงษ์ทางนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่รับฟังเมื่อไม่รับฟัง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก่อน

“ภาพการดูแลเศรษฐกิจมหภาคของ ดร.วีรพงษ์ไม่เคยพลาดเลย ดูแลมาได้ดีตลอดเวลา จะเห็นภาพเศรษฐกิจมหภาคไปได้ก่อนคนอื่นเสมอ”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อครั้งที่ทราบว่า ดร.วีรพงษ์ ล้มป่วยเขาได้ไปเยี่ยมสองครั้ง ซึ่งตอนนั้น ดร.วีรพงษ์ได้ฝากความเป็นห่วงถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และฝากให้ตนไปช่วยดูแล อย่าให้รัฐบาลเอาธนาคารแห่งประเทศไทย ไปหนุนธุรกิจคนไหนเป็นอันขาด ซึ่งเผอิญแบงก์ชาติก็ไม่ได้หนุนนักธุรกิจคนไหน

“ดร.วีรพงษ์ไม่อยากให้แบงก์ชาติเป็นธนาคารที่ไปหนุนธุรกิจโดยตรง ซึ่งควรหนุนผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผมก็พยายามทำตามเป็นตัวกลางไปบอกให้” 

นักเศรษฐศาสตร์อีกท่านที่รู้จัก “ดร.วีรพงษ์” มามากกว่าครึ่งชีวิต คือ “ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ส่วนตัวรู้จักกับ ดร.วีรพงษ์มากว่า 50 ปี ท่านเป็นรุ่นพี่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้มีโอกาสร่วมงานกันมาตลอด 

มองว่าท่านเป็นบุคคลที่น่าเคารพนับถืออย่างมาก เป็นนักวิชาการแท้ ที่เข้าใจศาสตร์และศิลป์ของเศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันท่านก็เป็นนักวิชาการที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

ดร.วีรพงษ์เป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างมากในการวิเคราะห์ วิจัย เศรษฐศาสตร์มหภาคที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย รายได้ประชาชาติ ฯลฯ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมด จึงได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม และมีส่วนสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนแอ โดยดุลบัญชีการค้า ดุลบัญชีชำระเงินติดลบหนัก

        ท่านจึงเสนอให้ปรับลดค่าเงินบาท ซึ่งเมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินตราต่างประเทศ ทำให้สามารถขายของได้ง่ายขึ้น เมื่อมีคนเข้ามาลงทุนในประเทศก็รู้สึกคุ้มค่า นักท่องเที่ยวก็สามารถแลกเงินบาทได้เยอะขึ้น ทำให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับขึ้นมาได้

        นอกจากนี้ ท่านยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจสมัย ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปช่วยจัดการหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

        “ท่านเป็นนักวิชาการแท้ ให้คำแนะนำตามตำรา ตามหลักการทุกประการ ไม่เกรงว่าเมื่อพูดไปแล้ว ผู้ที่รับคำแนะนำจะโกรธเคืองหรือไม่ เห็นได้จากตอนที่ท่านเป็นที่ปรึกษาสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ท่านออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเลยว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว และเตือนว่ารัฐบาลจะพังเพราะโครงการนี้ โดยไม่ได้เกรงกลัวอะไร ซึ่งสุดท้ายก็มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่ท่านเตือนไว้จริงๆ”

ดร.บัณฑิต นิจถาวร” ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวถึง  ดร.วีรพงษ์ ว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับมันสมองของประเทศไทย เพราะผ่านการทำงานมาหลายด้านทั้งด้านวิชาการ ด้านการเมืองและงานในภาคธุรกิจ ทำให้เข้าใจบริบทของการทำนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ว่าต้องทำอะไร ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ควรทำอย่างไรให้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้นการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ จึงเป็นสิ่งที่ตรงใจคนฟัง และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทั้งในภาคธุรกิจและภาคการเงินต่างให้ความสำคัญมาตลอด

ดร.วีรพงษ์ยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคระดับต้นๆ ของประเทศ และเป็นผู้บุกเบิกแบบจำลองเศรษฐกิจที่เรียกว่า “เศรษฐมิติ” โดยใช้หลักทางสถิติเข้ามาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค เพื่อสร้างแบบจำลองเศรษฐกิจ วิเคราะห์และประเมินการเศรษฐกิจ

ดังนั้นจากความถนัดทางด้านนี้ส่งผลให้อาจารย์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจพื้นฐานของเศรษฐกิจมหภาคและการทำงานของระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างดี รวมทั้งส่งผลให้มีความสามารถในการสื่อสารต่อสาธารณะ จึงถือได้ว่าเก่งทั้งในเรื่องของการพูดและการเขียน ที่สำคัญคือ เข้าใจข้อจำกัดของการทำนโยบายเป็นอย่างดี

ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นถัดมา “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ดร.วีรพงษ์

ถือเป็นบุคคลที่น่าเคารพมาก เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรอบรู้ ประสบการณ์สูง ความสามารถสูง และเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญๆ ของประเทศ และมีผลงานมากมายจนเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น ส่วนตัวถือว่าโชคดีมากที่รู้จัก ดร.วีรพงษ์และได้รับการสั่งสอน และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากท่าน

ซึ่ง เชื่อว่า ดร.โกร่งเป็นบุคคลที่หาคนเทียบไม่ได้ ในแง่การเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ครบถ้วน ทั้งความรู้ ด้านเศรษฐกิจ รู้สถานะประเทศ และเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์สำคัญๆ รู้ที่มาที่ไปในแต่ละเรื่องเป็นอย่างดี

ดังนั้น หากพูดถึง ดร.โกร่งคงใช้คำว่า “กุนซือ” คงน้อยไป คงต้องเรียกว่า “ปรมาจารย์”ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ที่มีความรู้มาก รู้จริง รู้ลึก

อีกท่านที่คลุกคลี่เป็นอย่างดี กับดร.วีรพงษ์ อย่าง “ดร.สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่า  ในอดีตนั้น ดร.วีรพงษ์ถือเป็นเจ้านายโดยตรง เพราะสมัยตนจบใหม่ มาเริ่มทำงานที่ TDRI สมัยนั้น ดร.วีรพงษ์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจมหภาค TDRI

จึงมีโอกาสได้ทำงานให้ ดร.วีรพงษ์หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ช่วยทำแบบจำลองพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาค ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยมาก และดร.วีรพงษ์ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้จนได้รับฉายา “โหรเศรษฐกิจมือหนึ่งของไทย” 

ดร.สมชัย เล่าว่า ตนยังได้เรียนรู้ประสบการณ์  ระดับ international ครั้งแรก หลังจากไปงานร่วมกัน ที่ประเทศลาว จึงได้มีโอกาสสัมผัสกับวิธีคิด และการมองโลกของ ดร.วีรพงษ์อย่างใกล้ชิด อาจารย์เป็นคนที่มองโลกอย่างเป็นระบบมาก มองภาพใหญ่ได้ดีจนน่าทึ่ง 

         “สิ่งหนี่งที่ผมเชื่อว่าผมเรียนรู้จาก ดร.วีรพงษ์โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามคือ การอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย แน่นอนว่าผมทำได้ไม่ถึงหนี่งในสิบของอาจารย์ แต่ก็เป็นแนวทางที่ผมพยายามใช้มาตลอด ผมเชื่อว่า ดร.วีรพงษ์เป็น inspiration ในด้านต่างๆ ให้กับอีกหลายคน”

สุดท้าย “เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากพูดถึง ดร.วีรพงษ์สิ่งที่แตกต่างกับนักวิชาการหรือนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปคือ ความชัดเจน ความสามารถในการสื่อความหมาย การอธิบาย ที่สามารถพูดเรื่องยากซับซ้อนให้เข้าใจง่าย ตรงประเด็น ทำให้คนฟังเข้าใจง่าย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หายากในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ในยุคปัจจุบัน

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์