"อีสาน" กับการพัฒนาที่ยั่งยืน “BCG Model”

"อีสาน" กับการพัฒนาที่ยั่งยืน  “BCG Model”

หนึ่งประเด็นสำคัญ ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ปี 2565 #APEC2022THAILAND ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คือการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy Model เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับใช้ให้เข้ากับศักยภาพอุตสาหกรรมประเทศ

ภูมิภาคอีสานวันนี้และในอดีตมีความแตกต่างกันอย่างมาก การเข้ามาของเทคโนโลยีได้ส่งผลทำให้จากเดิมที่อีสานเคยมีลักษณะเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ โดยเฉพาะการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลัก 

แต่ในปัจจุบัน ภาพของชาวนาอีสานในอดีตเปลี่ยนไป คนอีสานที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสามารถเลี้ยงชีพได้นั้น มักจะมีที่นาเยอะพอสมควร และมีผลผลิตส่วนเกินจากการทำเกษตรเพื่อบริโภค มาขายเพื่อหารายได้อีกทางหนึ่ง ในขณะที่การเพาะปลูกแตกต่างจากอดีตโดยมีการจ้างแรงงานและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการใช้เครื่องจักรในการทำนา ทั้งรถไถ รถแทร็กเตอร์ และรถเกี่ยวข้าว 

เมื่อมีการจ้างแรงงานในทุกขั้นตอน ในด้านที่พักอาศัยสำหรับพักผ่อนช่วงกลางวันระหว่างทำนา (เถียงนาหรือเถียงไฮ่) ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยในอดีต ชาวนาอีสานปลูกเถียงนาเป็นเพิง สร้างและรื้อถอนได้ง่าย แต่ปัจจุบัน เถียงนาถูกสร้างอย่างแข็งแรง มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ ห้องน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น

เมื่อการทำเกษตรกรรมไม่สามารถสร้างรายได้ที่เหมาะสมเพื่อเลี้ยงชีพ ชาวอีสานจึงหันไปทำงานรับจ้างในชุมชนและรับค่าจ้างรายวัน การอพยพของแรงงานอีสาน ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ และกรุงเทพฯ ยังเป็นส่วนสำคัญของการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอีสานและประเทศไทย

จนมีการตั้งคำถามว่า “การพัฒนาในปัจจุบันยั่งยืนหรือไม่” และ “เราจะพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้อย่างไร” จึงเป็นที่มาของข้อเสนอการพัฒนาประเทศภายใต้กรอบ BCG Economy Model ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน อีกทั้ง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย

รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG นั้น เป็นการพัฒนาโดยอาศัยแนวคิด 2 ประการ ได้แก่ 

B - Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ

C – Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว 

G – Green Economy และอาศัยจุดแข็งของภาคอีสานที่มีทรัพยากรและความพร้อมในหลายด้าน

ทั้งหมดนี้ มุ่งให้การพัฒนาตามแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2560 – 2565 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ 3 เรื่องการสร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นฐานรายได้ใหม่ ที่สำคัญของภาคอีสาน โดยมุ่งเน้นการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อนำทรัพยากรชีวภาพ (พืช สัตว์ จุลินทรีย์) วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรของเสียและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์ และชุมชน มาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง 

การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปภาคการเกษตร อาหาร สาธารณสุข พลังงาน อุตสาหกรรมเคมี และภาคสังคม อีกทั้งมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ในกลุ่มพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง ด้วยการพัฒนาต่อยอดเพื่อทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง อาทิ ชีวเภสัชภัณฑ์ โปรตีนทางเลือก ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกชีวภาพ (bio-plastic) เอนไซม์หรืออาหารเสริมสุขภาพจากจุลินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งการนำวัตถุดิบ ของเหลือทิ้งทางการเกษตร ขยะจากครัวเรือน มาผลิตเป็นพลังงานเพื่อใช้ในครัวเรือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระดับชุมชนในด้านเกษตรกรรม

การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ BCG Economy Model นี้ จะเห็นได้ว่ามีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสานและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน มีการพัฒนาโดยอาศัยจุดแข็งของภาคอีสานในด้านต่าง ๆ อาทิ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น และดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว พบว่า ภาคอีสานมีความเหมาะสมต่อรูปแบบการพัฒนานี้เป็นอย่างมาก และจะช่วยให้อีสานเป็นภูมิภาคที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้ ยังตอบคำถามที่ว่า เราจะพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้อย่างไร