กฎหมายและการใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือน | กฎหมาย 4.0

กฎหมายและการใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือน | กฎหมาย 4.0

บางประเทศ เช่น เยอรมนี อิตาลี หรือมลรัฐแมริแลนด์และมลรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝนหรืออาจเรียกแบบไม่เป็นทางการว่า “ภาษีน้ำฝน” (Rain tax) โดยกำหนดหลักการจัดเก็บจากเจ้าของทรัพย์สินที่มีส่วนทำให้เกิดสภาพน้ำท่วมเจิ่งนอง

ผู้เขียน : 
ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
ผศ.ชลีรัตน์ มเหสักขกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

    จากบทความ “ค่าธรรมเนียมน้ำฝนแก้น้ำท่วมได้หรือไม่” ผู้เขียนได้กล่าวถึงการนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำฝน (Stormwater fee) ไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำท่วมเจิ่งนอง (Stormwater management) โดยนำเงินรายได้ไปสนับสนุนการบังคับใช้มาตรการเชิงโครงสร้างและมาตรการเครื่องมือควบคุม เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่จอดรถซึ่งขวางทางไหลของน้ำไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก การสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดใหญ่ หรือการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดมวลน้ำที่มีส่วนผสมของมลพิษ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายบริหารจัดการทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของน้ำท่วมเจิ่งนอง
    หากพิจารณาในเชิงหลักการแล้วการบริหารจัดการน้ำท่วมเจิ่งนอง หมายถึง การจัดการน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นดินที่มีส่วนทำให้เกิดน้ำท่วมเจิ่งนอง โดยอาจเป็นการจัดการในพื้นที่ชนบทซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยซึมซับน้ำฝนเอาไว้ส่วนหนึ่ง รวมถึงการจัดการในพื้นที่เมืองซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอาคารบ้านเรือนตั้งอยู่และขวางทางน้ำไหลหรือน้ำระบายตามธรรมชาติ 
    ในอดีตการบริหารจัดการน้ำท่วมเจิ่งนองมุ่งใช้วิธีการทำให้น้ำมีการระบายอย่างสะดวก รวดเร็วและทันท่วงที ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบายน้ำของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเมื่อน้ำฝนมีปริมาณมากขึ้นจึงมีการนำวิธีใหม่มาปรับใช้ด้วยการควบคุมและปรับเปลี่ยนทางไหลของน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น การเริ่มต้นกักเก็บน้ำชั่วระยะเวลาหนึ่ง รอให้น้ำซึมซับลงสู่พื้นดินและนำน้ำที่กักเก็บมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น 
 

การบริหารจัดการน้ำฝนด้วยวิธีเหล่านี้ก่อให้เกิดต้นทุนการจัดการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ขนาดของระบบและปัจจัยอื่น ๆ อีกทั้งการบริหารจัดการยังต้องการผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ควบคุมดูแลระบบให้ใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด
    ผู้เขียนขอหยิบยกวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในระบบการจัดการน้ำท่วมเจิ่งนองคือ การใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือน (On-site stormwater detention) โดยอุปกรณ์ดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่รับน้ำฝนและกักเก็บน้ำฝนจากอาคารบ้านเรือนชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาจึงปล่อยน้ำฝนอย่างช้า ๆ สู่ทางระบายน้ำสาธารณะหรือสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ดังกล่าวนี้สามารถช่วยบรรเทาและป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงสู่พื้นที่ระดับต่ำในทันทีจนเกิดน้ำท่วมเจิ่งนองจนยากที่จะบริหารจัดการได้
    นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในทางกฎหมายแล้ว กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้อาคารมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปรับปรุงน้ำเสียจากอาคารให้เป็นน้ำทิ้งที่มีคุณภาพตามประเภทของอาคารตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งที่กำหนดไว้ ก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง ซึ่งมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งประกอบด้วยหลายรายการ เช่น พีเอช บีโอดี ปริมาณสารแขวนลอย ปริมาณสารละลายที่เพิ่มขึ้นจากน้ำใช้ ปริมาณตะกอนหนัก ทีเคเอ็น ออร์แกนิก-ไนโตรเจน แอมโมเนีย-ไนโตรเจน หรือน้ำมันและไขมัน เป็นต้น 

นอกจากนี้กฎหมายควบคุมอาคารยังกำหนดให้การระบายน้ำฝนออกจากอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจะระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้งโดยตรงก็ได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ซึ่งสำหรับอาคารบ้านเรือนแล้วอาจมีการติดตั้งรางน้ำฝนเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำหรือไม่ก็ได้ แต่หากเป็นอาคารบ้านเรือนในบางพื้นที่ในต่างจังหวัดอาจมีการติดตั้งรางน้ำฝนเชื่อมต่อกับถังกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแห้งแล้ง ทั้งนี้การจัดการดังกล่าวเป็นการจัดการน้ำฝนเพื่อให้มีการระบายสู่ธรรมชาติเท่านั้น

    ผู้เขียนจึงเห็นว่า เราสามารถนำกฎหมายควบคุมอาคารมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำท่วมเจิ่งนองได้โดยเฉพาะกรณีการจัดการน้ำฝนจากอาคารบ้านเรือน

กฎหมายและการใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือน | กฎหมาย 4.0

ภาพจาก https://sswm.info/water-nutrient-cycle/wastewater-treatment/hardwares/semi-centralised-wastewater-treatments/stormwater-management  

กล่าวคือ นอกจากกฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้อาคารบ้านเรือนต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังกำหนดให้อาคารบ้านเรือนต้องมีระบบการระบายน้ำฝนด้วยการใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือนดังที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งทั้งสองระบบอาจมีความเกี่ยวพันกันได้โดยการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งและน้ำฝนให้อยู่ในระดับมาตรฐานก่อนทยอยระบายน้ำสู่สิ่งแวดล้อมอย่างช้า ๆ และไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเจิ่งนอง
    การใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือนอาจมีข้อดีและข้อด้อยในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ การใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือนทำให้ช่วยบำบัดและชะลอน้ำฝนก่อนระบายลงสู่แหล่งระบายน้ำทิ้งหรือสิ่งแวดล้อมอันเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและป้องกันปัญหาน้ำท่วมเจิ่งนองเหมือนเช่นในต่างประเทศ

แต่ในขณะเดียวกันการใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแก่เจ้าของอาคารบ้านเรือน และเจ้าของอาคารบ้านเรือนอาจไม่เห็นความสำคัญและไม่สนับสนุนให้มีการบังคับใช้หรือติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้
    ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำท่วมเจิ่งนองด้วยกลไกของกฎหมายควบคุมอาคารจึงเป็นหนทางอีกประการหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเจิ่งนองที่มาจากน้ำฝนหรือภาวะฝนตกหนักตามฤดูกาลได้ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมถึงข้อดีข้อด้อยรวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนจะทำการตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าควรบังคับให้มีการใช้อุปกรณ์จัดการน้ำฝนในอาคารบ้านเรือนหรือไม่ต่อไป