หากทรัมป์แพ้

หากทรัมป์แพ้

2020 เป็นปีอาถรรพ์ การมาของโรคระบาดแห่งศตวรรษทำให้ภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองโลกเปลี่ยนไปมหาศาล

หนึ่งในนั้นคือโอกาสที่ทรัมป์จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองนั้นลดลงมาก

หากพิจารณาในภาพใหญ่ จะเห็นได้ว่าการที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีนั้นเป็นผลจาก กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่รุนแรงขึ้นหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเกิดจากนโยบายของภาครัฐประเทศพัฒนาแล้ว ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (โดยเฉพาะการทำ QE) ที่ให้ประโยชน์กับ (1) ชนชั้นบนในประเทศเจริญแล้วผ่านตลาดเงินตลาดทุนที่เฟื่องฟูขึ้น แต่ภาคเศรษฐกิจจริงไม่ได้รับประโยชน์มากเท่าใด (2) คนชั้นกลางของประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้ประโยชน์จากการค้า การลงทุน ที่เคลื่อนย้ายจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนาที่ต้นทุนถู           กกว่า ขณะที่ (3) คนชั้นกลางล่างในประเทศเจริญแล้วเสียประโยชน์จากตำแหน่งงานที่ลดลง

ด้วยกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่แรงขึ้น ทำให้ทรัมป์ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านโลกาภิวัฒน์มาตลอดจึงได้ประโยชน์จากกระแสดังกล่าว และเมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ก็ยิ่งทำให้กระแสดังกล่าวรุนแรงขึ้น กล่าวคือ ผลักดันให้สหรัฐออกจากองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร ยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และทำสงครามการค้ากับทั่วโลกโดยเฉพาะจีน

ในส่วนของเศรษฐกิจ อาจกล่าวได้ (แม้ไม่เต็มปากนัก) ว่าการที่เศรษฐกิจสหรัฐก่อน COVID นั้นแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรัพม์ ผลจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลในช่วงปี 2017 ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในปี 2018 เติบโตได้อย่างร้อนแรง

แต่ก็เป็นเพราะสงครามการค้าโดยเฉพาะกับจีนในปี 2019 ที่ประกาศโดยทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคในสหรัฐเผชิญความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะสามารถกดดันจีนให้ปรับเปลี่ยนบทบาททางด้านเศรษฐกิจ (เช่น เปิดเสรีเศรษฐกิจ เปิดตลาดการค้า และเคารพทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น) ได้บ้างก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ภาพทั้งหมดเปลี่ยนไปหลังจากการระบาดของโรค COVID-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐ ทำให้โอกาสที่ทรัมป์จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งเลือนลางไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่สหรัฐมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้นเป็นผลจากการบริหารจัดการโรคระบาดของรัฐบาลทรัมป์ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะ (1) การขาดการเตรียมพร้อมในช่วงแรกของการระบาด ทำให้พาหะจากจีนสามารถเข้ามาระบาดในสหรัฐได้โดยง่าย (2) การไม่บังคับให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย และ (3) การเร่งเปิดเมือง (Reopening) ก่อนที่จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การติดเชื้อรอบสองมีมากขึ้น

ในปัจจุบัน โอกาสที่ทรัมป์จะได้รับเลือกตั้งในสมัยที่สองลดน้อยลงมาก วัดได้จาก (1) ผลโพลล่าสุดที่ทรัมป์ได้ต่ำกว่า โจ ไบเดน คู่ท้าชิงจากพรรค Democrat ถึง 8.7% (2) คะแนนความไว้วางใจในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (Presidential approval rating) ที่ 41.9% เท่ากับ ประธานาธิบดีบุชคนพ่อก่อนเลือกตั้งรอบ 2 (หลังจากนั้นคะแนนนิยมของบุชก็ตกต่ำลงจนแพ้แก่ บิล คลินตัน ในที่สุด) และ (3) โมเดลทางคณิตศาสตร์ของนิตยสาร The Economist ที่ให้โอกาสที่ทรัมป์ชนะเพียง 1 ใน 10 (ที่เหลือเป็นของไบเดน)

หากการเลือกตั้งครั้งนี้ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. แทนที่จะเป็นทรัมป์แล้วนั้น ผู้เขียนมองว่า สหรัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายรัฐ 4 ประการ ดังนี้

1.ในส่วนการให้ความสำคัญด้านนโยบาย (Priority) รัฐบาลไบเดนน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายในประเทศมากขึ้น แทนที่จะเป็นนโยบายต่างประเทศ เช่น สงครามการค้า ดังเช่นรัฐบาลทรัมป์

โดยไบเดนน่าจะเน้นประเด็นด้านสาธารณสุข ที่จะดึง Obamacare กลับมา (ซึ่งได้แก่การที่รัฐสนับสนุนด้านสุขภาพ มากกว่าจะให้ประชาชนทำประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชน ที่เป็นนโยบายของทรัมป์ในปัจจุบัน) รวมถึงการหันมาเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเพิ่มการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ลดการใช้คาร์บอน

2.การใช้จ่ายภาครัฐจะยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านสวัสดิการและสุขภาพซึ่งเป็นจุดเด่นของ Democrat ขณะที่ประเด็นด้านความมั่นคงน่าจะลดความสำคัญลง ทั้งให้งบประมาณให้ตำรวจ และงบสนับสนุนด้านกลาโหมน่าจะลดลง

อย่างไรก็ตาม รายจ่ายด้านสวัสดิการประชาชนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ภาครัฐหันกลับมาขึ้นภาษีนิติบุคคลอีกครั้งหลังจากที่ลดไปในสมัยทรัมป์ (แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่า Democrat จะได้รับเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาหรือไม่)

3.ประเด็นเรื่องต่างประเทศ จากการที่ไบเดนมีประสบการณ์ด้านต่างประเทศมากทั้งจากการเป็นคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านต่างประเทศหลายสมัย รวมถึงเป็นรองประธานาธิบดีสมัยประธานาธิบดีโอบามา ทำให้เป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไบเดนจะเน้นนโยบายพหุภาคีอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปทำ TPP การมุ่งเน้นเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศ เช่น  สหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และองค์การการค้าโลกมากขึ้น ทำให้การบริหารกิจการต่างประเทศกลับมาเป็นการบริหารโดยใช้หลักการ (Rule-based) อีกครั้ง

4.ประเด็นด้านสงครามเย็นกับจีน เป็นไปได้ว่ารัฐบาลไบเดนน่าจะลดทอนความรุนแรงด้านสงครามเศรษฐกิจกับจีนลงบ้าง โดยไบเดนคงไม่ใช้การขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อกดดันจีนดังเช่นทรัมป์ แต่จะ (1) อาศัยความร่วมมือของชาติพันธมิตรกดดันจีนมากขึ้น รวมถึงหันไปเล่นงานผ่านองค์กรระหว่างประเทศ (2) ใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าการลงทุนที่ไม่ใช่ภาษีกดดันแทน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ภาพดังกล่าวจะทำให้ความร้อนแรงสงครามการค้าลดลง แต่จะยังคงความร้อนแรงด้านสงครามเทคโนโลยี และสงครามการเงิน อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าสหรัฐในช่วงของไบเดนจะสามารถคุยและตกลงกับจีนได้ในภาพใหญ่ ทำให้จีนเปิดประเทศมากขึ้น รวมถึงอาจเห็นจีนเข้าร่วม TPP และรวมกันผลักดันด้านประเด็นระดับโลก เช่น โลกร้อน การลดกำลังนิวเคลียร์เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป หากทรัมป์แพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะทำให้ความผันผวน ไม่แน่นอน โดยเฉพาะในเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นสมัยทรัมป์ รวมถึงกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ในระดับโลกลดลงได้บ้าง หันมาเน้นประเด็นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการในระยะต่อไป

แต่ก็อาจนำมาซึ่งรายจ่ายภาครัฐที่มากขึ้น เศรษฐกิจที่เติบโตต่ำลง (โดยเฉพาะหากรัฐบาลกลับมาขึ้นภาษีอีกครั้ง) และการผงาดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของจีนก็เป็นไปได้มากขึ้นเช่นกัน

โลกยุคหลังทรัมป์อาจมาเร็วขึ้นกว่าที่เตรียมใจไว้ นักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง