พวกเราต้องขอบคุณ “น้องแตงโม” | อมร วาณิชวิวัฒน์

พวกเราต้องขอบคุณ “น้องแตงโม” | อมร วาณิชวิวัฒน์

“วีรบุรุษหลังการสู้รบ” มักมาพร้อมเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม เป็นเช่นนี้ไม่เฉพาะประเทศไทยของเรา ประเทศอื่นจะก้าวหน้าร่ำรวยเจริญประมาณใดก็มีผู้คนในลักษณะนี้ไม่แตกต่างกัน

เราเห็นคดีของคุณหมอ “กระต่าย” ในช่วงแรกๆ ต่างคาดหวังว่า ผู้เกี่ยวข้องทางคดีกับคนในสังคมจะมีจิตสำนึกปรับเปลี่ยน ทั้งวิธีการทำงานและพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน 

แต่เกือบจะพร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณหมอ ก็มีคนโพสต์คลิปให้เห็นคนถูกรถชนถึงแก่ความตายบนทางม้าลายในหลายแห่งทั่วประเทศ ก่อนหน้านี้มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้รอบรู้มากมายออกมาเสนอความเห็นแนะนำโน่นนี่แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ส่วนกรณี “น้องแตงโม” ไม่ทันที่ทางผู้เกี่ยวข้องจะวินิจฉัย สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ ปรากฏว่า พยานหลักฐาน พยานวัตถุต่างๆ ผมไม่แน่ใจว่ามีการเก็บรักษากันไว้ด้วยวิธีการอย่างไรถึงให้ผู้สื่อข่าวหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าไปใกล้ชิด ถ่ายภาพ สัมผัสกันได้ขนาดที่เห็นในสื่อ แถมยังมีคนดาหน้าออกมาให้ความเห็น กลายเป็นสงครามมีเดีย (media war) 

คล้ายการสู้รบระหว่าง “รัสเซีย และ ยูเครน” ที่หากมีคลิป “ปูติน” ให้อาหารสุนัขใน Tik Tok ได้ “เซเลนสกี้” ผู้นำยูเครน ก็มีคลิปเป็นคนอารมณ์ขันดูใจดีออกมาประชันได้เหมือนกัน เวลาเดินไปไหนมาไหนมีลูกน้องตามสี่ห้าคน ไม่มีใครถืออาวุธให้เห็นเลย มาทราบว่าอดีตประธานาธิบดีคนนี้เขาเป็นดาราดังมาก่อน อ้อ อย่างนี้นี่เอง

วันนี้การใช้สื่อสังคม และการเผยแพร่คลิปต่างๆ ในเมืองไทยของเรา ผมมองว่า หลายเรื่องเข้าข่ายละเมิดสิทธิ และเป็นการก๊อปปี้หรือคัดลอกวิธีการตามๆ กันมาทั้งของคนไทยกันเองและของต่างชาติ อย่างไม่เข้าใจ 

 เช่น การถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างว่าทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำต้องไม่เป็นการยั่วยุ หรือ ไปขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เอะอะ จะอ้างสิทธิหรือไปท้าทายรบกวนการปฎิบัติงาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับตัวผู้ถ่ายคลิปเองด้วย 
 

ส่วนกรณี ของ “น้องแตงโม” ผมไม่เคยแม้แต่จะกล้าให้ความเห็นใดๆ ในทางคดี แม้จะเป็น “นักอาชญาวิทยา” และติดตามคดีนี้มาแต่ต้น เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นต้องอาศัยวิธีการพิสูจน์ทราบทางนิติวิทยาศาสตร์ประกอบการชี้ให้เห็นที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้น

 แต่วันนี้ มีทั้ง หมอดู ผู้เชี่ยวชาญสารพัด แม้แต่ รายการโทรทัศน์ แข่งกันทำ “เรตติ้ง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะบางกรณีที่เห็นมีพิธีกรบางคนทำหน้าที่ทั้งกล่าวหา ตั้งคำถามสืบสวนสอบสวน ซึ่งอาจสะใจคนดูในทางใดทางหนึ่ง

 แต่ในทางรูปคดี เป็นเรื่องประหลาดมาก ที่เรื่องบานปลายออกไปเพราะคนสนสังคมไม่สนใจรับฟังสิ่งที่ทางการจะเป็นผู้แถลง แต่ไปเชื่อคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่มีส่วนรู้เห็นในทางใดก้บคดีที่เกิดขึ้นเลย 

อาจอ้างว่า ต้นทุนของตำรวจหรือของฝ่ายผู้ทำคดีมีน้อย เลยไม่น่าเชื่อถือ แต่หากสังคม ไม่ศรัทธากระบวนการยุติธรรม หันพึ่งไสยศาสตร์ กับ คนที่ตัวเองเชื่อถือศรัทธามากกว่า ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องคิดพิจรณาแล้วว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเรา

คงไม่ต่างอะไรกับการที่นักการเมืองจะผสมพันธุ์กับพรรคใด ใครจะมาหรือไป จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่เราอาจเคยได้ยินเขาพูดว่า “ที่ไม่ไปเลือกตั้งเพราะ ใครจะมาจะไป เราก็ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม” 

ฟังดูแล้ว คนไม่ชอบใจอาจก่นด่าประณามได้ว่า คนพวกนี้ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ทำหน้าที่ของตนที่ควรจะกระทำเหมือนที่เขาควรจะทำ ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนปัญหาคล้ายๆ กัน คือ “ปัญหาว่าด้วยการขาดศรัทธา ความไว้วางใจ” ที่สังคมไทยดูเหมือนกำลังประสบปัญหาที่เราเรียกว่า “วิกฤตศรัทธา” เช่นนี้มาช้านาน 

แต่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ มีการพูดกัน จัดสัมมนาอภิปราย ตั้งใจปฏิรูปกัน แต่ถึงที่สุดก็ไม่มีใครทำอะไร ทั้งการ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

ทุกอย่างทำแล้วขึ้นหิ้งหรือไม่ก็ค้างคาอยู่ที่ผู้ตัดสินใจ ที่เขาน่าจะตัดสินใจด้วยการมองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่ามองว่า “ทำแล้วจะมีลูกน้องรักหรือเกลียดเขากี่คน เพราะประชาชนที่เขามองเห็นมีพารามิเตอร์หรือขอบเขตใกล้ตัวเขามากเกินไป ทำให้มองไม่เห็นคนที่อยู่วงนอก” 

ประชาชนที่เชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบฝังหัว ก็คงคล้ายกัน คือ มองเห็นคนที่เขาฝากความหวังได้เพียง ดารา พิธีกร หมอดู คนที่เป็นไอดอลของเขาที่อยู่ในทีวีในสื่อต่างๆ เพราะเปิดทีวีก็มองเห็นอ่านหนังสือพิมพ์ก็เจอ

กสทช. ชุดใหม่อาจยังไม่ได้เข้าทำหน้าที่ แต่อยากให้เตรียมพิจารณาถึงการจัดการแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วย เพราะเวลานี้ ใครอยากดัง อาจมีสื่อบางเว้ปเขาบอกว่า เขาพร้อมจัดให้อยู่ก็จริง แต่แอพพลิเคชั่น ทั้งของไทยและเทศที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมเราทุกวันนี้ เรื่องอิสระเสรีภาพที่มีกันเกิดขอบเขต กระทั่งขาดการควบคุม ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและสังคมส่วนรวม 

กสทช. ซึ่งกำกับดูแลสื่อทั่งหลายทั้งปวง ต้องเข้ามาหาทางกลั่นกรองและทำงานตรงนี้อย่างประณีตพิถีพิถัน ไม่ได้ต้องการให้ใช้กฎระเบียบหยุมหยิมมาควบคุม แต่ต้องมี “ความกล้าหาญ” 

เหมือนที่เราเขียนรัฐธรรมนูญให้องค์กรอิสระทั้งหลายมีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังต้องรอคอย “นักร้องขาประจำ” ถึงจะหยิบเรื่องมาทำอยู่ร่ำไป 

จะว่าไปการออกกฎหมายมาตรวจสอบทรัพย์สิน เอ็นจีโอ หรือ องค์กรภาคประชาสังคมว่ามีรายได้รายรับอย่างไรผมสนับสนุนเต็มที่ และต้องขอบคุณ “น้องแตงโม” ที่ทำให้สังคมได้กลับมาคิดพิจารณาในสิ่งที่ทำๆ กันอยู่นี้ ไม่แน่ว่าเขาอาจคิดๆ กันได้และอาจมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในอนาคต พี่ขอให้ดวงวิญญาณของ “น้องแตงโม” ไปสู่สุคติ.
คอลัมน์ : ธรรมรัฐวิจารณ์ 
ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ 
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
คณะรัฐศาสตร์ 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย