เราต่างเติบโตมากับ "ตู้กับข้าว" | อมร วาณิชวิวัฒน์

เราต่างเติบโตมากับ "ตู้กับข้าว" | อมร วาณิชวิวัฒน์

วันก่อนได้ทานข้าวนั่งคุยกับ “พี่ตือ” คุณเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร ผู้บริหารโรงงานกะทิชาวเกาะ ท่านมาบ่นๆ ให้ฟังถึงแนวคิดคนรุ่นใหม่กับรุ่นพวกเรา

มีประเด็นน่าสนใจทำให้ผมคิดถึง “ตู้กับข้าว” ที่น่าจะเทียบได้กับ “ตู้เย็น” ที่เราใช้กันทุกวันนี้ สมัยก่อนเราไม่มีตู้เย็น

ตู้กับข้าว คือ ที่เก็บรักษาอาหารไว้ทานข้ามคืน ให้สดใหม่ตามสมควร ไม่ให้ มด แมลง มาไต่ตอม มีน้ำเลี้ยงขาตู้ ที่สมัยเด็กๆ ดูหนังอัศวินในทีวี เลยจินตนากรเหมือนเป็นธารน้ำหน้าป้อมปราการ ใครจะเข้าป้อมได้ก็ให้ว่ายน้ำข้ามไป 

สมัยนั้นถ้าจะเก็บเนื้อสัตว์ให้นานหน่อยก่อนมีตู้เย็น เราต้องซื้อน้ำแข็งใส่กระติกมาแช่ไว้แล้วยัดใส่ตู้ เชื่อว่าทุกท่านในรุ่นอายุเกินห้าสิบต้องเคยได้เห็น ตู้มุ้งลวดที่นานวันเป็นสนิมให้เห็นแต่เทคโนโลยีจีนวันนี้ลวด โลหะทั้งหลาย ขนาดซื้อร้าน “ยี่สิบบาท” ยังไม่เห็นสนิมเกาะเลย 

แต่ที่น่าภูมิใจคือ พวกเราพวกท่านทั้งหลายมีกินมีใช้บางท่านมีเงินหลักร้อยหลักพันล้านหรือมากกว่านั้น เราต่างเติบโตมากับ “ตู้กับข้าว” นี้ เหมือนกัน

ที่เอา ตู้กับข้าว มาเดินเรื่องก็เพราะ ผมเห็นสังคมของเราเปลี่ยนแปลงในทางดีหลายอย่าง 

แต่ก็มีเรื่องน่าห่วงอยู่พอประมาณ พี่ตือ กับ ผม เห็นตรงกันว่า “คนรุ่นใหม่” (ไม่ให้อคติ เอาคนรุ่นเราที่ติดสบายด้วย) มีตัวช่วยในการดำเนินชีวิตมากเหลือเกิน ทำให้บางทีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาจะมองคนละมุมกับพวกเราที่ยังไม่ลืมความหลัง

ก่อนสอบเอ็นทรานซ์เข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ ผมอ่อนภาษาอังกฤษมาก เคยฟัง ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล พูดในรายการวิทยุว่า ชอบฟังข่าวต่างประเทศผ่านวิทยุคลื่นสั้น ข่าวภาษาอังกฤษพวก บีบีซี วีโอเอ รับฟังได้เอาไว้ฝึกภาษาอังกฤษ

ที่บ้านคุณพ่อชอบสะสมหลักๆ นอกจากนาฬิกา แล้วก็มี วิทยุเครื่องเสียง ที่เป็นตู้ใหญ่ๆ สมัยก่อนหลายท่านคงนึกภาพออก เห็นมีแบบใหม่ๆ มาเปลี่ยนตั้งโชว์ในบ้านไม่ค่อยซ้ำกันในทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่แปดริ้ว ผมเลยได้อานิสงส์ รับเอาวิทยุใช้แล้วมาฟังต่อ

นี่คือการเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ก่อนจะมาเปิดฟังรายการเพลงตามสถานีวิทยุเอฟเอ็ม มารู้จัก “ไนท์สปอต” “โก๋หลังวัง เทวัญ วนะภูติ” กระทั่งรายการ เพลงสากลดึกๆ ของ กุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ทั้งเพลิดเพลินและฝึกฝนภาษาไปในตัว 

แต่จะไปเรียนภาษาอังกฤษกับ Home of English หรืออาจารย์ สงวนฯ รุ่นพี่สิงห์ดำของพวกเราที่ราชดำเนินก็ต้องเดินทางไกล และมีค่าใช้จ่าย วิธีที่ใช้กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยและไปเรียนต่อต่างประเทศกระทั่งได้ปริญญาเอก มาด้วยการขอยืนเทป ยืมเอกสารเพื่อนมาทำสำเนา เรียนด้วยตัวเอง

สรุปคือ ไม่เคยต้องใช้เงินกวดวิชาเป็นหมื่นเป็นแสนเหมือนคนรุ่นหลังๆ

นั่นคือ ราชดำเนินในมุมบวกๆ ที่จำได้ดี แต่ในอีกมุมที่เห็นพี่ๆ เพื่อนๆ คุยกันเรื่อง “เดือนตุลา” ผมมีความทรงจำหลายเรื่องตั้งแต่ 14 ตุลา 16 เวลานั้นอายุเกือบสิบขวบ ไม่รู้จักหรอก ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รู้จักแต่ “ไอ้ก้านยาว”

เพราะหนังสือพิมพ์เอาภาพคนถือไม้กระบอกประจัญหน้ากับทหารที่ถือปืนเอ็ม 16 หน้าโรงแรมรอยัล ราชดำเนิน 

พอเหตุการณ์สงบคุณอาผู้หญิง (นพวรรณ คงวงวรรณ) ยังซื้อสติกเกอร์เป็นการ์ตูนในเหตุการณ์เดือนตุลามาให้หลายแผ่นเลย เพราะเห็นผมสนอกสนใจ

แถวบ้านมีนิสิตจุฬาฯ ที่ไปร่วมเหตุการณ์มายืนเล่าเรื่องให้ฟังที่ท่าเรือข้ามฟากคลองแสนแสบ ผมก็ไปยืนฟังด้วยความตื่นเต้น เมื่อพ้นไปสามปี มีเดินขบวนประท้วงที่มีเกือบทุกวันเรื่อยมา เพราะบ้านอยู่หลังโรงงานเฟดเดอร์ (ทำแอร์) ประท้วงกันสนุกสนาน 

แต่สำหรับ 6 ตุลาคม 2519 ผมน่าจะราวๆ สิบเอ็ดขวบ นั่งดูการ์ตูน จู่ๆ มีภาพช่อง 4 ตัดเข้าบรรยากาศสนามหลวงราชดำเนิน เห็นมีคนเดินบ้าง วิ่งบ้า และเห็นภาพที่เกิดขึ้นแบบสดๆ ทุกภาพที่เพื่อนๆ พี่ๆ พูดถึงกันนี่ล่ะครับ

มาทราบความจริงว่า นิสิตนักศึกษาที่เขาแขวนไว้ที่ต้นมะขามแล้วมีคนเอาเก้าอี้ฟาดร่างของเขาจริงๆ แล้วเป็นรุ่นพี่ของพวกเราที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผมเชื่อมาโดยตลอดว่า เป็นนักศึกษารามคำแหง 

เคยคิดเหมือนหลายๆ คนและบ่นออกมาเหมือนกันเวลามีข่าวฆ่าแกงกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “ทำไมคนสมัยนี้ทำไมโหดเหี้ยมเหลือเกิน” แต่พอเห็นภาพ Killing field ที่ธรรมศาสตร์อันนี้ ผมเลยต้องเชื่อว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ก้าวร้าวและดุร้ายมากกว่าสิงมีชีวิตอื่นๆ ในโลกใบนี้หลายเท่า 

ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด มนุษย์ก็ยังคงฆ่าแกงกัน หลังๆ มานี้ เพิ่งคิดได้เลยมาสร้างกฎกติกา มีเรื่องสิทธิมนุษยชน มีเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่มนุษย์ก็ยังฆ่ากันอย่างที่เห็นในสงคราม หรือ เมื่อมนุษย์ไม่พอใจ โกรธ เกลียดคนที่มาขัดแย้งกับตัวเอง

ผมเลยเข้าใจและมองเห็นทุกมุมของสิ่งที่เพื่อนๆ พี่ๆ อภิปรายกัน มองความคิดของทุกฝ่ายอย่างใจกว้าง เรื่องนี้ผมคงไม่ตัดสินว่าฝ่ายใดทำอะไรเพราะอะไร แต่การฆ่าแกงกันนั้น ผมไม่สนับสนุน ไม่อยากให้บ้านเมืองต้องมีเหตุการณ์แบบนี้ ไม่งั้นมันจะเป็นเงื่อนไขต้องมาออกนโยบายโน่นนี่กันเหมือนสมัย พลเอก เปรมฯ ท่านแก้ปัญหาผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย.