Will Smith, ฮอลลีวูด และสังคมอเมริกันที่ผมมองเห็น | อมร วาณิชวิวัฒน์

Will Smith, ฮอลลีวูด และสังคมอเมริกันที่ผมมองเห็น | อมร วาณิชวิวัฒน์

วิธีการที่ Will Smith ดาราผิวสีชื่อดังจากบันเทิงฮอลลีวูด ตอบโต้คำพูดล้อเลียนของเพื่อนร่วมงานด้วยการตบหน้าฉาดใหญ่ท่ามกลางธารกำนัล ด้วยการอ้างว่ามีคำพูดที่คุกคามความเป็นส่วนตัวของเขา บนเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ เป็นสิ่งที่เด็กเยาวชนไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ความเป็นบุคคลสาธารณะ (Public figure) ไม่ใช่สิ่งที่ใครก็เป็นได้ แต่เมื่อได้รับการขนานนามว่า เป็นคนของประชาชนเป็นคนของสังคมแล้ว ท่านทั้งหลายต้องตระหนักให้ดีว่า  “พื้นที่ส่วนตัวจะหายไปแทบหมดสิ้น”

ถ้าเรายังยึดติดกับความเป็นตัวตนยังมีพื้นที่ของตัวเองมากไป ความอึดอัดคับข้องใจจะตามมา พฤติกรรมที่แสดงออกมาทั้งการพูดการจาการกระทำต่างๆ จะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นจริงในตัวตนของบุคคลคนนั้นได้ทันที

 

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ต้องการซ้ำเติมกับเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เหมือนดังที่ Chris Rock ผู้ที่ต้องหน้าชาเพราะโดนมือตบหมื่นล้านอย่าง Will Smith ตบข้าฉาดใหญ่ เปรยขึ้นมาทันทีที่โดนตบว่า “เขาเพิ่งโดนฟาดปากไปในงานพิธีอันยิ่งใหญ่ของโลก”

สิ่งที่เขาพูดมีความหมายที่เรามิได้ตัดสินอะไร เพียงเพราะภาพภาพเดียวหรือเหตุการณ์เหตุการณ์เดียว แต่การกระทำที่เป็นการทำร้ายผู้อื่นอย่างอุกอาจ เพียงเพราะขาดสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Resilient หรือความอดกลั้นเช่นนี้ ไม่ควรมีในบุคคลที่สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
 

เสียงเรียกร้องให้ ริบคืน “รางวัลออสการ์” จาก Will Smith เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะรางวัลอันทรงคุณค่า ไม่ควรตัดสินในการมอบให้ใครเพียงเพราะความเก่ง ความสามารถ แต่สภาพจิตใจอาจบกพร่องหรือมีความไม่สมบูรณ์ในช่วงเวลานั้นๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้สังคมต่างๆ ต้องพิจารณากันให้ดีว่า การจัดการสังคมที่มีความหลากหลายด้วยการจัดสรรโควต้า หรือการแบ่งสรรปันส่วนไปตามความเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน อาจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเสมอไป

สหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างของประเทศที่แก้ปัญหา ความแตกแยกแตกต่างทางสังคมด้วยระบบจัดสรรโควต้า (Affirmative action)

สมัยที่ผู้เขียนไปเรียนหนังสือในดินแดนที่เรียกว่า “สวรรค์แห่งเสรีภาพ” กลับพบว่ามหาวิทยาลัย มีทั้งที่เป็นของคนผิวขาว คนผิวสี กีฬาก็เล่นกันตามสีผิว มาตรฐานต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนจำนวนหนึ่งมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งเป็นสิ่งดีงาม 


 

ไม่เช่นนั้น เราคงไม่เห็นคนอย่าง Barack Obama ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของคนอเมริกันได้ แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่า ลึกไปกว่าการเอื้อประโยชน์ตามสีผิว เชื้อชาติเผ่าพันธุ์นั้น คือ เรื่องของพรรค เรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด ฝ่ายใดสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างไร มิได้ขึ้นอยู่กับความถูกต้อง แต่เป็นไปด้วยปัจจัยว่าด้วยนโยบาย ปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

“ฮอลลีวูด” เป็นตัวอย่างของ สังคมชุมชนที่แวดล้อมไปด้วย ผู้มีอิทธิพลทางการเงิน อำนาจที่แอบแฝงเข้ามาในวิชาชีพการแสดง เพราะดารา นักแสดง ที่จะมีโอกาสก้าวขึ้นมาในพื้นที่สำคัญตรงนี้ได้ ไม่ใช่แค่ว่า รูปร่าง หน้าตาดี แสดงสมบทบาท แต่ต้องมีพลังสนับสนุน เพราะตัวเลือกและคนที่พร้อมจะเข้ามาเป็นดาวค้างฟ้าเช่นนี้มีอยู่ดาษดื่นในสังคมคนอเมริกัน

น่าจะถึงเวลาแล้วที่ “ฮอลลีวูด” ต้องหันมาทบทวนบทบาทของตัวเอง ในฐานะหนึ่งใน “สถาบันทางสังคม” ของคนอเมริกัน การจะทำตัวเป็นเหมือนผู้วิเศษหรือทำตัวเป็น มนุษย์เหนือมนุษย์อื่นๆ ไม่ควรมีอีกต่อไป การเป็นนักแสดงที่จัดเป็นบุคคลสาธารณะ มีสิ่งที่เป็นต้นทุนหรือสิ่งที่ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ การถูกวิพากษ์วิจารณ์ การมีคนนินทาค่อนแคะ ไม่ต่างกับนักการเมืองหรืออาชีพอื่นที่สังคมจับตามอง  

แต่การที่ฮอลลีวูดเป็นที่รวมของกลุ่มบุคคลกลุ่มผลประโยชน์ที่คอยควบคุมสั่งการ หรือกำหนดทิศทางของความบันเทิง เช่นเดียวกับ วงการแฟชั่น ที่มีกลุ่มบุคคลคอยชี้แนะว่า ฤดูกาลนี้ จะต้องใส่เสื้อผ้าสีอะไร แนวใด หรือจะต้องออกแบบโดยดีไซน์เนอร์คนใด จึงจะถือเป็นผลงานอันอมตะล้ำค่า จึงไม่ต่างกับเขตหวงห้ามสำหรับคนที่จะเข้ามาตรวจสอบความเป็นไปต่างๆ ที่เป็นคำร่ำลือในทางลบๆ ของฮอลลีวูด ทั้งเรื่องอาชญากรรม การล่วงละเมิดต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส 

การเป็นคนผิวสีในช่วงหลังๆ ของสังคมอเมริกัน เริ่มถูกยกสถานภาพ ได้รับความเอาใจใส่ ดูแล จากองค์กร กลุ่มพลังต่างๆ ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงการเรียกร้องความเท่าเทียมของสีผิวและยังทรงอิทธิพลที่ไม่เพียงกำหนดทิศทางสังคม

แต่รวมไปถึงผลการเลือกตั้ง ที่เชื่อกันว่า การที่ “เดโมแครต” ได้กลับเข้ามายึดทำเนียบขาวได้ล่าสุดก็เป็นผลมาจากพลังสนับสนุนของคนผิวสีที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ 

โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ George Floyd มีขบวนการเรียกร้องสิทธิคนผิวดำที่รู้จักกันในนาม Black Live Matter แผ่ขยายอิทธิพลออกไปในมลรัฐต่างๆ บางแห่งเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจด้วยการ “ขอให้ยุบเลิกหน่วยงานตำรวจ” และกดดันในการดำเนินกิจกรรมทางสังคมด้วยข้ออ้าง ที่ทำให้การขับเคลื่อนของรัฐบางแห่งต้องชงักงันไป 

จงจำไว้ว่า “หากท่านเกลียดชังสิ่งใด แต่ท่านใช้วิธีการหรือกระทำด้วยวิธีการเดียวกับที่ผู้ที่ท่านเกลียดชัง ท่านย่อมมีสถานะไม่แตกต่างจากบุคคลเหล่านั้น"

คนผิวดำในวันนี้ มาไกลกว่าคนผิวดำที่ผมพบเจอในสมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่เขากำลังจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่ทำตัวไม่ต่างกับคนขาว ที่เขาเคยอ้างว่า กดขี่รังแก เอารัดเอาเปรียบพวกเขา 

บางที “การลืมตัว” หรือเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เหมือนคน “ดื่มยาเกินขนาด” ทำให้แทนที่ยาจะรักษา กลับกลายเป็น  “ยา (สิทธิ เสรีภาพ อำนาจ อิทธิพล)” กลับย้อนมาทำลายตัวพวกเขาเองอย่างน่าอนาถใจยิ่ง.