70 ปี ควีนครองราชย์ กับผลประโยชน์เศรษฐกิจ

70 ปี ควีนครองราชย์  กับผลประโยชน์เศรษฐกิจ

อังกฤษเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 70 หรือ Platinum Jubilee ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตั้งแต่วันนี้จนถึงสุดสัปดาห์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางการเมือง วิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อราชวงศ์ครั้งแล้วครั้งเล่า

เพราะขนบธรรมเนียมประเพณี ประกอบกับประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐที่เข้มแข็งทำให้กษัตริย์อังกฤษตั้งแต่โบราณนั้น ถูกลดบทบาทในทางการเมืองจนเหลือเพียงการเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และสิ่งที่นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า นี่คือเหตุผลหลักที่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษนั้นยังอยู่ยั้งยืนยงคงคู่กับประเทศมาจนปัจจุบัน

นอกจากการมีบทบาทในการแทรกแซงทางการเมืองที่น้อย การปรับตัวของราชวงศ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษยังคงอยู่รอดปลอดภัยไม่ว่าจะผ่านวิกฤติครั้งใด และความสัมพันธ์อันดีระหว่างสำนักพระราชวังอังกฤษกับสื่ออังกฤษก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ราชวงศ์รอดพ้นจากการถูกตรวจสอบขุดคุ้ยเรื่องต่าง ๆ และนี่ก็คืออีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมราชวงศ์ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย

สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษนั้น วิวัฒนาการมาอย่างยาวนานจนปัจจุบันมีการลดขั้นตอนประเพณีลงอย่างมากเพื่อให้เกิดความเป็นกันเองและเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจราชวงศ์ได้มากขึ้น อาทิ การประกาศยกเว้นคำนำหน้าพระยศสำหรับรัชทายาทอันดับ 2 เจ้าชายวิลเลียม โดยให้เรียกสั้น ๆ เพียงวิลเลียม

หรือการที่ราชวงศ์ชั้นสูงเข้าร่วมขี่กระแสวัฒนธรรมป๊อปรุ่นใหม่ อาทิ พิธีเปิดโอลิมปิกลอนดอน 2012 ที่ควีนทรงนำแสดงในวิดีโอพร้อมกับสายลับ 007 ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี หรือแม้กระทั่งกำหนดการที่เจ้าชายแห่งเวลส์จะร่วมเข้าเป็นดารารับเชิญพิเศษในละครชาวบ้านอย่าง Eastenders ในวาระการเฉลิมฉลอง 70 ปีแห่งการครองราชย์นี้

ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเข้าถึงประชาชนเพื่อลดช่องว่างระหว่างสถาบันกษัตริย์และประชาชน ความพยายามในการปรับตัวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ อาทิ กรณีการหย่าร้างของเจ้าชายแห่งเวลส์ กรณีมรณกรรมของอดีตเจ้าหญิงไดอานา กรณีการออกจากราชวงศ์ของเจ้าชายแฮร์รี และกรณีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เองที่ทำให้คนอังกฤษส่วนใหญ่ยังคงมีความนิยมชมชอบในราชวงศ์อยู่ งานเฉลิมฉลองนี้จึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นงานเฉลิมฉลองที่ประชาชนรอคอย เพราะถือเป็นมหกรรมการเฉลิมฉลองที่ใหญ่สุดนับแต่มีโรคระบาดโควิดเป็นต้นมา กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้น ก็ล้วนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งสิ้น อาทิ พิธีสวนสนาม คอนเสิร์ต ที่แจกบัตรฟรีเป็นจำนวนมากแก่ประชาชนคนธรรมดา

นอกจากกิจกรรมอย่างเป็นทางการแล้ว ผับบาร์ต่าง ๆ ก็เตรียมฉลองกันอย่างครึกครื้น ซึ่งมีการประมาณการว่า ผับและบาร์ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรจะมีรายได้จากการเฉลิมฉลองนี้กว่า 2,900 ล้านปอนด์หรือคิดเทียบเล่น ๆ ให้เป็นหน่วยแก้วเบียร์ได้กว่า 712 ล้านแก้ว ซึ่งตลอดวาระการเฉลิมฉลองนี้มีประมาณการตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยที่จะมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอังกฤษถึงกว่า 6,370 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP รายไตรมาสเลยทีเดียว

ตัวเลขสภาพคล่องกว่า 6,370 ล้านปอนด์นี้ยังมาจากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยาวที่รัฐบาลประกาศหยุดเพื่อถวายพระเกียรติและอีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายในช่วงหลังโควิด เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังฝืดเคืองของอังกฤษ

ของที่ระลึกตั้งแต่ชุดชา แก้วน้ำ ตุ๊กตาบาร์บี้ล้อเลียนควีน ขนมปัง และช็อกโกแลตรูปสุนัขพันธุ์โปรดของควีนอย่างคอร์กี้ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยอุดหนุนสภาพคล่องนี้

จะเห็นได้ว่า สถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นมีการปรับตัวเพื่อรักษาสถาบันไว้ ขณะที่รัฐบาลและภาคเอกชนก็รู้จักใช้เอกลักษณ์ของสถาบันผนวกกับเอกลักษณ์ของประเทศเพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงรายได้เพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก