แก้ปัญหาขยะล้นกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

แก้ปัญหาขยะล้นกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

แก้ปัญหาขยะในกรุงเทพมหานคร ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เปลี่ยนการบริโภคและใช้งานพลาสติกให้คุ้มค่า ลดปัญหาขยะล้นเมืองหลวง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กำลังงวดเข้ามา ผู้สมัครฯ แต่ละคนได้มีโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนากทม. หากได้รับเลือกตั้ง ปัญหาหนึ่งที่อยู่คู่กับกทม. มาตลอดหลายสิบปี คือ ปัญหาขยะใน กทม. 

ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมกทม. ระบุว่าใน 2562 กทม. มีการจัดเก็บขยะมากกว่า 10,500 กิโลกรัมต่อวัน หรือต้องใช้รถสิบล้อขนประมาณ 423 คัน ในการขนขยะในแต่ละวัน ถึงแม้ว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 ปริมาณขยะจะลดลง แต่ปัญหาขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับเพิ่มรุนแรงมากขึ้น

ในภาวะปกติคนกรุงเทพทิ้งขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ร่วมกับขยะทั่วไปราว 10-15% ของขยะทั่วไป และในช่วงโควิด-19 ครัวเรือนสร้างขยะรีไซเคิลเพิ่มขึ้นเยอะมาก เช่น ขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากปีก่อนหน้า เนื่องมาจากมีการสั่งอาหารส่งถึงบ้าน หรือซื้อสินค้าออนไลน์เยอะขึ้น

ข้อมูลงบประมาณ กทม. ปี 2565 จากทั้งหมด 79,855 ล้านบาท ถูกจัดสรรเพื่อใช้ในการจัดการขยะประมาณเกือบ 3,154 ล้านบาท และอย่างที่รู้กันดีว่าขยะพลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ชนิดหนึ่ง มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาวอย่างมหาศาล

เนื่องจากการย่อยสลายได้ยาก อีกทั้งผลระยะสั้นคือการไปขัดขวางทางระบายน้ำทำให้เกิดปัญหาน้ำระบายไม่ทันกันเป็นประจำ

แก้ปัญหาขยะล้นกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

 

ช่วงการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา ผู้สมัครฯ ทุกคนต่างแสดงวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกันว่า การจะแก้ปัญหาขยะในกทม. นั้น ต้องเริ่มจากการ “คัดแยกขยะ” จากครัวเรือน

อันที่จริงเรื่องการคัดแยกขยะจากครัวเรือนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่ผ่านมาผู้ว่าคนแล้วคนเล่าพยายามทำให้เกิดการคัดแยกขยะมาตั้งแต่ต้นทาง

แต่ก็อย่างที่ทุกคนก็รู้กันดีว่า ที่ผ่านมาการคัดแยกขยะยังไม่เกิด หรือแม้เกิดแต่ก็ยังไม่แพร่หลาย และก็คงจะรอให้พฤติกรรมการคัดแยกขยะค่อย ๆ แพร่หลาย ก็น่าจะไม่ทันแล้ว

คำถามก็คือ ทำไมต่างประเทศถึงแยกขยะกันเป็นปกติ และจะทำอย่างไรเพื่อให้คนไทยใส่ใจการคัดแยกขยะมาตั้งแต่ครัวเรือนมากขึ้น? 

จากงานวิจัยการทดลองภาคสนามด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการแทรกแซงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกขยะจากครัวเรือน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และการทำงานร่วมกับบริษัทบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำอย่าง Smart Service & Management Co., Ltd. และด้วยทางบริษัทสนับสนุนการคัดแยกขยะในโครงการต่าง ๆ ที่ดูแลอยู่แล้วจึงทำให้ดำเนินการวิจัยอย่างมีประสิทธิผล

โดยการศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมที่อยู่อาศัยทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม รวม 12 โครงการครอบคลุมมากกว่า 3,350 ยูนิต จากทั้งสิ้น 320 โครงการที่บริษัทดู (รวมกว่า 80,000 ยูนิต) และมีระยะเวลาการทดลองทั้งสิ้น 8 เดือน (32 สัปดาห์) 

การทดลองภาคสนามแบ่งกลุ่มการทดลองตามวิธีการแทรกแซงทั้งหมด 4 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม และกลุ่มที่ใช้การแทรกแซง 3 กลุ่ม

ประกอบไปด้วยการให้ข้อมูลที่พุ่งเป้า การให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับคนอื่น และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเช่นรูปลักษณะ พื่นที่ตั้ง ของถังขยะรีไซเคิล

ทั้งนี้การแทรกแซงเหล่านี้พัฒนาจากแนวคิดของหนังสือชื่อดังอย่าง Nudge: Improving Decision About Health, Wealth, and Happiness ซึ่งเป็นงานสำคัญที่ทำให้ Richard H Thaler ได้รับรางวัล Nobel ในปี 2017

เขาได้แนะนำวิธีการกระตุ้นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยไม่ใช้เงินหรือใช้เงินน้อยที่สุดเอาไว้ 

แก้ปัญหาขยะล้นกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ผลการศึกษาพบว่ามาตรการด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสามารถกระตุ้นให้ครัวเรือนทุก ๆ ประเภทคัดแยกขยะเพิ่มมากขึ้นกว่า 135% โดยที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีที่สุดโดยสามารถเพิ่มปริมาณการคัดแยกขยะรีไซเคิลได้มากกว่า 171%

ขณะที่บ้านเดี่ยวตอบสนองต่อมาตรการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมน้อยที่สุด โดยเพิ่มปริมาณการเพิ่มขยะรีไซเคิลได้ราว 15% การรายงานเชิงเปรียบเทียบแบบนี้เป็นหนึ่งในการกระตุ้นเช่นกัน

โดยที่หากเราให้ข้อมูลแก่ผู้อยู่อาศัยบ้านเดี่ยวว่า แยกขยะได้น้อยกว่าผู้อยู่อาศัยแบบคอนโดหลายเท่า ผู้อยู่อาศัยบ้านเดี่ยวอาจจะเกิดการละอายใจและแยกขยะมากขึ้น

ในขณะเดียวกันหากแจ้งข้อมูลนี้แก่ผู้อยู่อาศัยแบบคอนโด ก็จะเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ที่ทำดีอยู่แล้ว

แก้ปัญหาขยะล้นกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

จากข้อมูลก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากสามารถปรับพฤติกรรมการแยกขยะให้เพิ่มขึ้นได้จริงซักประมาณ 100% ก็จะสามารถคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลได้ราว 1,000 ตัน หรือเกือบ 50% ของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะทำให้ต้นทุนในการจัดการขยะลดลงได้ประมาณ 5% ของงบประมาณจัดการขยะ (ประมาณ 158 ล้านบาท)

อีกนัยหนึ่งคือสามารถผันงบประมาณส่วนนี้ไปใช้จ่ายค่าอาหารเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ได้ 3.95 ล้านคน หรือซื้อรถขยะ 6 ล้อได้มากกว่า 65 คัน 

แก้ปัญหาขยะล้นกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ข้อสรุปเพิ่มเติมจากงานวิจัยชิ้นนี้ สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่อาจจะเป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ ที่จะได้รับการเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.65 นี้ คือ ประการแรก คือควรพิจารณานำมาตรการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมมาใช้มากขึ้นในหลากหลายบริบทเนื่องจากใช้งบน้อยได้ผลเร็ว

ประการที่สองที่เกี่ยวกับบริบทการจัดการขยะคือทาง กทม. จะต้องมีการจัดภาชนะ (ไม่ว่าจะเป็นถุงหรือถังขยะแยกประเภท) รวมทั้งดูแลรักษาอยู่เสมอ

เพราะหากไม่มีที่แบ่งอย่างชัดเจนคนก็มักจะคิดเอาว่าไม่มีการคัดแยกขยะใด ๆ ส่งผลต่อการสร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะของประชาชน และเป็นการสร้างจิตสำนึกเพื่อให้การแยกขยะเป็นพฤติกรรมที่ปกติในสังคม

สิ่งที่เห็นจากงานวิจัยชิ้นนี้ คือ เรายังเห็นแสงปลายอุโมงค์ในการแก้ปัญหาการจัดการขยะใน กทม. และรวมถึงชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ขอเพียงเราสามารถทำความเข้าใจประชาชนในแต่ละพื้นที่ และหาแนวทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย มิใช่นโยบายจำบนลงล่าง เรายังมีทางครับ.. เรายังมีทาง..

ผู้เขียน: 

  1. ดร.ชินวัฒน์ หรยางกูร อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 
  2. ดร.นัฐพร โรจนหัสดิน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ภาพประกอบ: นลินี ลิขิตพรวงศ์