Soft Power คืออะไรในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

Soft Power คืออะไรในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

โจเซฟ เอส นาย (Joseph S. Nye) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของวิทยาลัยการปกครองเคเนดี้ แห่งมหาวิทลัยฮาวาร์ด เป็นนักวิชาการรุ่นแรก ๆ ที่พูดถึงพลังอำนาจอ่อน หรือ Soft Power ที่กลายเป็นคำติดปากคนไทยในช่วงหลายวันที่ผ่านมา จนข้าวเหนียวมะม่วงกลายเป็นสินค้าขายดีไปเลย

โจเซฟให้นิยามว่า อำนาจ หมายถึง ความสามารถในการทำให้ผู้อื่นทำสิ่งที่ตัวเขาไม่ได้อยากทำ โดยอำนาจแบ่งเป็น อำนาจแข็ง (Hard Power) และอำนาจอ่อน (Soft Power) อำนาจทั้ง 2 แบบนี้ หากนำมาใช้อย่างเหมาะสม ก็จะเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศให้เข้มแข็งจนมีอิทธิพลเหนือประเทศ หรือสังคมได้ตามที่เจ้าของอำนาจต้องการ

อำนาจแข็ง (Hard Power) เกิดจากการมีทรัพยากรเชิงกายภาพที่จำเป็นต่อการสร้างอำนาจนั้นจำนวนมากพอ เช่น การมีกองทัพ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ มีกำลังคน หรือมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ 

แล้วนำเอาข้อได้เปรียบนี้มาเป็นเงื่อนไขในการบังคับให้ประเทศ หรือสังคมที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้อำนาจ ทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจแข็งเหนือกว่า

อำนาจอ่อน (Soft Power) คือการทำให้ประเทศหรือสังคมปฏิบัติตามความต้องการของผู้ใช้อำนาจอ่อน ผ่านกลไกสำคัญ 2 ประเภท คือ 
1) การสร้างอำนาจเพื่อกำหนดกติกาให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของอำนาจอ่อน หรือ 
2) การใช้อำนาจเพื่อจัดการความคิดของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปตามที่ต้องการ 

หากมองผ่านประเด็นอำนาจผ่านแว่นของนักเศรษฐศาสตร์ อำนาจแข็งที่ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรทางกายภาพนั้น มีต้นทุนในการสร้างอำนาจสูง และอำนาจลักษณะนี้สามารถเสื่อมค่าได้หากทรัพยากรเหล่านั้นไม่ได้มีคุณค่าในทางเศรษฐศาสตร์อีกต่อไป 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ สามารถใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือในการกดดันประเทศอื่น แต่หากประเทศที่โดนกดดันหันไปใช้พลังงานทางเลือกแทน ไม่ต้องพึ่งน้ำมันอีกต่อไป อำนาจแข็งผ่านการใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือจะหมดค่าไปทันที 

การสร้างกองทัพให้ใหญ่โตเกินความจำเป็นในการป้องกันประเทศ เพื่อให้อำนาจทางการทหารไปกดดันประเทศอื่นยอมหันซ้ายหันขวาตาม อาจเป็นการจุดชนวนให้เกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธของประเทศมหาอำนาจที่ใช้อำนาจทางการทหารเหมือนกัน 

Soft Power คืออะไรในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

การลงทุนมากกว่าที่ควรนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะทรัพยากรที่ควรนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ถูกแหล่งให้กลายเป็นอาวุธสงความที่ไม่ได้ใช้เพื่อการป้องกันประเทศ

ด้วย “ความแพง” และ “ความไม่ยั่งยืน” ของอำนาจแข็งหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจอ่อนเพื่อสร้างตัวตนในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนในการสร้างต่ำกว่า มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรน้อยกว่า 

หัวใจของความสำเร็จในการสร้างอำนาจอ่อน ไม่ใช่ระดับเทคโนโลยี ไม่ใช่ความร่ำรวย ไม่ใช่จำนวนคน แต่เป็นการใช้ “กึ๋น” ล้วน ๆ โดยเฉพาะการใช้กึ๋นเพื่อจัดการความคิดของผู้อื่นให้เป็นไปตามความต้องการ

เศรษฐศาสตร์จึงมองว่าอำนาจอ่อน คือ ความสามารถในการปรับโครงสร้างแรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการจัดการความคิดของผู้อื่นให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงความคิดของตนไปในทางที่เจ้าของอำนาจอ่อนต้องการ

ด้วยความที่อำนาจอ่อนเกิดขึ้นผ่านการจัดการความคิด ช่องทางที่ช่วยให้อำนาจอ่อนสำแดงพลังได้มากที่สุดจึงเป็นการใช้อำนาจนี้ผ่านเครื่องมือเชิงวัฒนธรรม  เช่น การเผยแพร่ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม กฎหมาย ประเพณี  หรือมิติอื่นของการใช้ชีวิต 

เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมองเห็นว่า การรับเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจะเป็นประโยชน์ก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นี่คือความน่ากลัวของอำนาจอ่อน มันสามารถกำหนดให้เราทำตัวตามที่เจ้าของอำนาจต้องการโดยเราไม่รู้ตัว คิดไปเองว่าเราสมัครใจที่จะเปลี่ยน จึงเกิดแรงต่อต้านน้อยกว่าการใช้อำนาจแข็ง

ความจริงแล้วการใช้อำนาจอ่อนไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มันถูกใช้มาควบคู่กับอำนาจแข็งมาตลอด หัวหน้าเผ่าใช้อำนาจอ่อนผ่านความเชื่อของเผ่าเพื่อกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในเผ่า และถ้ามีใครต้องแตกแถว ผู้คุมกฎที่เป็นตัวแทนของอำนาจแข็งจะเป็นผู้ลงมือจัดการให้ผู้แตกแถวกลับมาอยู่กับร่องกับรอย หรือทำให้ถูกตัดขาดจากการเป็นสมาชิกของเผ่า

หากมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์โลก มีหลายครั้งหลายคราที่การนับถอยหลังไปสู่วันสิ้นชาติเกิดจากปล่อยให้อำนาจอ่อนจากภายนอกเข้ามากัดกร่อนความคิดของคนในประเทศทีละน้อย หากไม่ระวังให้ดี กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจสายเกินการไปแล้ว 

แต่ก็ใช่ว่าอำนาจอ่อนทุกเรื่องจะเป็นเรื่องร้ายไปเสียหมด อำนาจอ่อนบางเรื่องช่วยขับเคลื่อนให้สังคมที่ย่ำอยู่กับที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เพียงแต่ต้องรู้จักเลือกรับอำนาจอ่อนเข้ามาอย่างมีสติ ผ่านการตรึกตรองแล้วว่าเป็นประโยชน์นำมาต่อยอดให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้

 เพราะไม่ว่าจะอำนาจอ่อนหรืออำนาจแข็ง หากอยู่ในมือของคนผิดย่อมนำไปสู่การฉ้อฉลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ.

Soft Power คืออะไรในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์