อีลอน มัสก์ ทวิตเตอร์ และ poison pill | ภาณุพันธุ์-ภูมิภัทร

อีลอน มัสก์ ทวิตเตอร์ และ poison pill | ภาณุพันธุ์-ภูมิภัทร

ข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจซึ่งเป็นที่ฮือฮากันทั่วโลก ในช่วงต้นเดือนเมษายนคงหนีไม่พ้นข่าวที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) แจ้งกับ SEC ว่าตนได้ครอบครองหุ้นประมาณ 9.1% ของบริษัททวิตเตอร์ (Twitter, Inc.)

ตามมาด้วยข่าวการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัททวิตเตอร์ที่ราคา 54.2 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ อีลอน มัสก์ เข้าซื้อหุ้นของบริษัททวิตเตอร์อยู่ถึง 54% 

และสูงกว่าราคาปิดตลาดวันก่อนหน้าวันที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า อีลอน มัสก์ เข้าซื้อหุ้นของบริษัททวิตเตอร์ อยู่ถึง 38% และสูงกว่าราคาปิดตลาดวันที่มีการประกาศเสนอซื้อดังกล่าวถึง 18% 

ทั้งนี้ การเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดดังกล่าวเป็นการเสนอแบบมีเงื่อนไขและไม่ผูกพัน โดย อีลอน มัสก์ ได้แจ้งว่าข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดและเป็นข้อเสนอสุดท้าย (best and final)

ในขณะที่คณะกรรมการของบริษัททวิตเตอร์ ก็ออกนโยบายที่มีชื่อทางการว่า shareholders right plan หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า poison pill ซึ่งเป็นแผนการออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้น เพื่อต่อต้านการครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์ (hostile takeover)

poison pill ของบริษัททวิตเตอร์ มีกลไกในการทำงาน โดยที่หากมีผู้ถือหุ้นคนใดได้มาซึ่งหุ้นในจำนวน 15% หรือมากกว่านั้น โดยไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ จะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด ณ เวลานั้น ๆ ในราคาเพียงครึ่งเดียว โดยแผนนี้จะมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 14 เมษายนในปีหน้า

นโยบายนี้ได้ชื่อว่า poison pill ก็เป็นเพราะเทคนิคดังกล่าวเป็นเสมือนการวางยาพิษบริษัทตนเอง เพื่อทำให้บริษัทตนเองมีความน่าสนใจในฐานะเป้าหมายของการถูกครอบงำน้อยลง

เพราะผู้ที่จะพยายามครอบงำจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากขึ้นในการครอบงำกิจการ และหุ้นของผู้ที่จะพยายามครอบงำที่ซื้อมาก่อนก็จะด้อยค่าลง  เนื่องจากจะมีการออกหุ้นใหม่ที่มีราคาถูกมาเฉลี่ยราคาหุ้นในตลาด 

อีลอน มัสก์ ทวิตเตอร์ และ poison pill | ภาณุพันธุ์-ภูมิภัทร

ในอีกแง่หนึ่ง poison pill ยังเป็นเครื่องมือเพื่อบังคับให้ผู้ที่พยายามจะครอบงำเข้ามาเจรจา แทนที่จะครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์ เนื่องจากหากผู้ที่เข้ามาซื้อกิจการได้รับการยอบรับจากคณะกรรมการบริษัท poison pill นี้ก็จะไม่มีผลบังคับ 

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไป poison pill นั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสหรัฐในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่การครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์เป็นที่แพร่หลาย ในสมัยนั้น

เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างในหลายประเด็นว่า poison pill  ผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น กรรมการและผู้บริหารของบริษัทจะผิดหน้าที่ตามกฎหมายที่เรียกว่า fiduciary duty ซึ่งเป็นหน้าที่ที่กรรมการจะต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและบริษัท หรือไม่

ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะว่ากรรมการและผู้บริหารอาจใช้ poison pill เพื่อรักษาตำแหน่งของตนในบริษัท

 เพราะโดยปกติแล้ว หลังการครอบงำกิจการก็จะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้บริหาร ทั้ง ๆ ที่ การครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์นั้น อาจส่งผลดีต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น เพราะอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีสถานการณ์ที่กรรมการและผู้บริหารไม่ต้องการให้บริษัทถูกครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์ เพียงเพื่อปกป้องตำแหน่งของตน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การครอบงำกิจการนั้นอาจส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและบริษัท หรือผู้ถือหุ้นอาจต้องการให้มีการครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์นั้นก็ได้ 

จากบทความ “The Return of Poison Pills: A First Look at “Crisis Pills”” ของ Ofer Eldar และ Michael Wittry ได้สรุปแนวโน้มของ poison pill ไว้ว่า หลังจากทศวรรษ 1990 นั้น poison pill ก็เป็นที่นิยมน้อยลง โดยช่วงเวลาปลายปี ค.ศ. 2019 มีบริษัทเพียง 19 แห่งใน S&P 500 ที่มี poison pill ก่อนจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงโควิด 

เนื่องจากมีหลายบริษัทต้องการป้องกันตัวเองจากการครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์เนื่องจากความผันผวนของราคาหุ้นและผลประกอบการที่ย่ำแย่จากผลของโควิด 

ในปัจจุบัน บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากก็มีการใช้ poison pill นอกจากนี้ poison pill นั้นยังถูกนำไปใช้ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

จากที่กล่าวข้างต้น แก่นของปัญหาในวงนักวิชาการเกี่ยวกับ poison pill คือ การตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการเพื่อป้องกันการครอบงำกิจการแบบเป็นปฏิปักษ์นั้น กรรมการของบริษัทควรตัดสินได้เองหรือควรให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจ 

ซึ่งอาจมองได้ว่า การที่ อีลอน มัสก์ พยายามยื่นข้อเสนอต่อผู้ถือหุ้นโดยตรงคือ การจะพยายามหาวิธีให้ผู้ถือหุ้นกดดันคณะกรรมการของบริษัททวิตเตอร์ 

ทั้งนี้ เราก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าในดีลนี้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง และจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างไร และสุดท้ายแล้วดีลนี้จะจบลงอย่างไร.
คอลัมน์ : Business&Technology Law
ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล 
[email protected]
ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล 
[email protected]
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น