"จีน-เวียดนาม"เปิดเส้นทางขนส่งทางถนน ยกระดับ"ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน"

"จีน-เวียดนาม"เปิดเส้นทางขนส่งทางถนน ยกระดับ"ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน"

จีน-เวียดนาม ประเดิม เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ สายใหม่  จากหนานหนิงถึงฮานอย  ภายใต้ CBTA ลดเวลาเดินทาง 1 วัน

KEY

POINTS

Key Point

  • จีน-เวียดนาม ประเดิม เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ สายใหม่  จากหนานหนิงถึงฮานอย 
  • ขบวนรถขนส่งที่บรรทุกสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักสด และสินค้าทั่วไป ได้ออกเดินทางพร้อมกันจากหนานหนิงและคุนหมิง มุ่งหน้าสู่กรุงฮานอย  
  • เส้นทางขนส่งทางบกระหว่างประเทศสายใหม่ภายใต้ CBTA ลดเวลาเดินทาง 1 วัน ลดค่าใช้จ่าย 1,000 หยวน

 

เว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองหนานหนิง ประเทศจีน รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2568 ที่ผ่านมา  กิจกรรมเปิดเส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศจากจีนถึงกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้จัดขึ้นพร้อมกันที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน

ขบวนรถขนส่งที่บรรทุกสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักสด และสินค้าทั่วไป ได้ออกเดินทางพร้อมกันจากหนานหนิงและคุนหมิง มุ่งหน้าสู่กรุงฮานอย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารถบรรทุกขนส่งสินค้าของจีนที่ใช้เอกสาร CBTA (ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนสำหรับสินค้าและบุคคลในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง) ได้เข้าสู่เขตใจกลางของเวียดนามเป็นครั้งแรก

โดยได้เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสองสายจากจีนผ่านด่านเหอโข่ว และด่านโหย่วอี้กวนไปยังกรุงฮานอย เป็นการยกระดับความสะดวกในการขนส่งทางถนนระหว่างจีน-เวียดนามขบวนรถประกอบด้วยรถบรรทุก 18 คันและรถโดยสาร 2 คัน จากกว่างซี และยูนนาน แบ่งออกเป็นสองเส้นทางมุ่งสู่กรุงฮานอย

เส้นทางแรก-ออกจากเขตสินค้าทัณฑ์บนเมืองหนานหนิง ผ่านด่านโหย่วอี้กวนเข้าสู่เวียดนามที่ด่านหูหงิ ผ่านจังหวัดหลั่งเซิน จังหวัดบั๊กซาง จังหวัดบั๊กนิญ ถึงฮานอย ระยะทางประมาณ 400 กม. ถึงในวันเดียว

เส้นทางที่สอง -ออกจากเขตสินค้าทัณฑ์บนนครคุนหมิง ผ่านด่านเหอโข่ว เข้าสู่เวียดนามที่ด่านลาวไก ผ่านจังหวัดเอียนบ๊าย และเมืองเหวียตจี่ของจังหวัดฟู้เถาะ ถึงฮานอย ระยะทางประมาณ 700 กม. ใช้เวลาประมาณ 2 วัน

ระหว่างทาง ผู้แทนจากหน่วยงานขนส่ง ศุลกากร และตรวจคนเข้าเมือง ของทั้งสองประเทศได้ร่วมเดินทางเพื่อตรวจสอบสภาพถนนและการขนส่งของรถบรรทุก ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานตามเส้นทาง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้กิจกรรมเปิดเส้นทางดำเนินไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

 

การขนส่งครั้งนี้สามารถส่งจากจุดเริ่มต้นถึงที่อยู่ผู้รับโดยตรงในรูปแบบ “ประตูถึงประตู” และ “จุดถึงจุด” การขนส่งโดยตรงในครั้งนี้ใช้โมเดล “ตู้เดียวกันตลอดทาง” และ “รถคันเดียวกันตลอดทาง” ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของการขนส่งทางถนนที่ตรงจุด มีประสิทธิภาพสูง และหมุนเวียนต่ำ

บริษัท Sinotrans ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานขนส่งชิงเต่าให้เป็นผู้จัดหาสินค้าและ ผู้ให้บริการขนส่งเต็มรูปแบบสำหรับการเปิดเส้นทางครั้งแรก ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานเวียดนามและกรมขนส่งกว่างซี เพื่อดำเนินความร่วมมือการขนส่งข้ามพรมแดน GMS นี้ ในกระบวนการเปิดเส้นทาง

บริษัท Sinotrans ได้เตรียมการรับรองมาตรฐานการขนส่ง GMS เอกสาร CBTA และวางแผนเส้นทางข้ามประเทศล่วงหน้า รวมทั้งจัดรถและสินค้า รถบรรทุกทั้งหมดใช้ระบบ “คนขับคู่ + การควบคุมอัจฉริยะ” และใช้ระบบระบุตำแหน่งดาวเทียม Beidou เพื่อให้เห็นเส้นทางขนส่งแบบเรียลไทม์ตลอดกระบวนการ

การขนส่งทางถนนระหว่างประเทศจีน-เวียดนามครั้งนี้ใช้โมเดล “ตู้เดียวกันตลอดทาง” และ “รถคันเดียวกันตลอดทาง” ซึ่งช่วยลดเวลาขนส่งประมาณ 1 วัน และลดต้นทุนเฉลี่ย 800-1,000 หยวนต่อคัน เมื่อเทียบกับรูปแบบเดิมที่ต้องเปลี่ยนตู้ เปลี่ยนรถ และเปลี่ยนภาชนะขนส่งที่ด่าน สามารถบรรลุ “ออกวันนี้ ถึงวันรุ่งขึ้น” ได้

ความสำเร็จของโครงการนี้แสดงให้เห็นถึงการขนส่งแบบ “ประตูถึงประตู” ระหว่าง จีน-เวียดนาม ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผ่านด่าน สร้างเส้นทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสู่อาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้าง มีบริษัทขนส่งทางถนนระหว่างประเทศในภูมิภาค 85 แห่ง ในปี 2567 ปริมาณการขนส่งสินค้าและยานพาหนะที่ด่านตงซิงและด่านโหย่วอี้กวนเพิ่มขึ้น 68% และ 225% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562 ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2568 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศที่ด่านทั้งสองอยู่ที่ 1.8662 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9.32% และยานพาหนะขาเข้า-ออก 240,200 คัน เพิ่มขึ้น 33%

ก่อนหน้านี้ จีน-ไทย เคยเปิดเส้นทาง GMS มาก่อน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567ขบวนรถขนส่งทางถนนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เส้นทาง “ชิงเต่า (จีน) – กรุงเทพฯ (ไทย)” ได้ออกเดินทางจากท่าเรือชิงเต่า โดยกขนส่งสินค้าเกษตรสด ออกจากชิงเต่า โดยผ่านด่านโม่ฮานในมณฑลยูนนานออกจากประเทศจีน ผ่านประเทศลาว และเดินทางถึงกรุงเทพฯ ของไทย ระยะทางรวมประมาณ 4,400 กิโลเมตร ระยะเวลาการขนส่ง 14 วัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเวลาการขนอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สคต. ณ เมืองหนานหนิง ให้ความเห็นว่า  จีนและเวียดนาม ประสบความสำเร็จในการเปิดเส้นทางการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ถือว่าเป็นการครั้งแรกในการดำเนินการของเขตฯ กว่างซีจ้าง อันจะเป็นโอกาสที่ยกระดับประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ระหว่างประเทศจีนกับ เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ต่อไปอาจจะมีการขยายเส้นทางไปถึงประเทศไทยในอนาคตด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและการลดต้นทุนได้ในอนาคต

ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกที่รถบรรทุกสินค้าของจีนภายใต้กรอบความตกลงอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) สามารถขนส่งสินค้าตรงไปยังพื้นที่ตอนในของเวียดนามผ่านเส้นทางสายใหม่นี้ได้โดยตรง

เส้นทางดังกล่าวจะช่วยให้รถบรรทุกแต่ละคันประหยัดเวลาในการเดินทางได้ประมาณ 1 วัน และลดค่าใช้จ่ายลงได้ราว 1,000 หยวน (ประมาณ 138.97 ดอลลาร์) เมื่อเทียบกับเส้นทางเดิม