เกษตรฯMOUใช้วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีหนุนประกันภัยพืชผล

กรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ กับ ไทยคม สมาคมประกันวินาศภัย นำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเมินน้ำท่วม ภัยแล้ง ใช้วางแผนประกันภัยพืชผล
นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผย ภายหลังการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) และ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อพัฒนาการนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ใน การประกันภัยพืชผล โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจร่วมกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการวางแผนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (น้ำท่วมและภัยแล้ง)
ซึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว มีระยะเวลาในการทำงานร่วมกัน 5 ปี เพื่อการวางแผนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติให้ได้รับเงินสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ลดต้นทุนของเกษตรกร รวมถึงภาครัฐมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเพื่อใช้ในการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้วยการใช้ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระบบประกันภัยพืชผล ในระยะที่ 1 และ 2 ได้ศึกษาการทำงานเพื่อใช้พัฒนาระบบที่รองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ตรงกับความต้องการการใช้งานจริงของกรมส่งเสริมการเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย และในปี 2567 ได้นำร่องการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจร่วมกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการพัฒนาโมเดลวิเคราะห์แปลงข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม เช่น ข้อมูลความชื้นในดินที่มีความละเอียดรายแปลงความลึกระดับรากข้าว 30 เซนติเมตร ข้อมูลดัชนีความสมบูรณ์ของพืช (NDVI) ข้อมูลชลศาสตร์ของดิน (Soil Hydraulic Properties) จากดาวเทียมที่ FAO (Food Agriculture Organization) ใช้อ้างอิงข้อมูลวิชาการต่าง ๆ เช่น ความต้องการน้ำของต้นข้าวในแต่ละระยะการเจริญเติบโต สัดส่วนของพื้นที่ปลูกข้าว ฯลฯ มาใช้ในการพัฒนาโมเดลวิเคราะห์แปลงข้าวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจากภาพถ่ายเรดาร์ดาวเทียมแบบ Synthetic Aperture Radar (SAR) ที่สามารถถ่ายภาพได้ทุกสภาพอากาศ รวมถึงช่วงที่มีเมฆปกคลุม
จากนั้นนำโมเดลที่พัฒนาขึ้นมาใช้วิเคราะห์แปลงข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 16 จังหวัด รวม 8.8 ล้านไร่ ได้แก่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ มหาสารคาม เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช ผลการใช้โมเดลวิเคราะห์แปลงข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วม พบว่า ข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวจากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และโมเดลมีความแตกต่างกัน 3.25 เปอร์เซ็นต์ (127,139 ไร่) มีความแม่นยำในการวิเคราะห์พื้นที่ปลูกข้าว ถึง 92 เปอร์เซ็นต์ และสามารถจำแนกตามพื้นที่ของการเกิดภัย ดังนี้ แปลงข้าวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มีความแม่นยำ 86 เปอร์เซ็นต์ และแปลงข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มีความแม่นยำ 83 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการทำงานในระยะที่ 3 และ 4 จะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มและโมเดลเพื่อรองรับการใช้งานทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 60 ล้านไร่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เจ้าหน้าที่ทดลองใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิธีการเดิม (การลงไปตรวจแปลงข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ) รวมทั้งการพัฒนานโยบายเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกันภัยข้าวนาปี และการขยายผลการศึกษาสู่พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในโครงการประกันภัยพืชผล