รฟท.โต้กลับฟ้องศาลปกครอง ขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง 995 ฉบับ

รฟท.ฟ้องศาลปกครองกลาง ขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง 995 ฉบับ ระบุออกเอกสารโดยมิชอบ พร้อมเพิกถอนโฉนดทับที่ดินตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟหลวง
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2568 รฟท.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางต่อ กรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) , อธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และปลัดกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3)
โดยมีรายละเอียดของการกระทำข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายที่พอเข้าใจได้และขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่ง โดยกรุงเทพธุรกิจได้มีการรายงานข่าว ดังนี้
1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2(2)/22362 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567
2.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องที่ 2 ซึ่งแจ้งผลการอุทธรณ์ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2(2)/25841 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เรื่องการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2(2)/760 ลงวันที่ 13 มกราคม 2568 เรื่องแจ้งผลการพิจาณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
4.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของ รฟท.บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ
โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกเอกสารโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หรือภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
5.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน ซึ่งออกทับซ้อนที่ดินของ รฟท.ทั้งหมดนอกเหนือจากคำขอตามข้อ 4 ตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรำ กิโลเม็ตร์ 375+650 ตามระวางที่ดิน 5638 IV 9452-00 ถึง 5638 IV 9454-00 บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้จัดทำข้อมูลค่าพิกัดตำแหน่งหมุดตามแบบ ร.ว.9 แล้ว
6.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ร่วมกันส่งมอบเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับซ้อนที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดี ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดหรือภายใน ระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนต่อไป
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้เกาะติดประเด็น ข้อพิพาท ที่ดินเขากระโดง โดยพบข้อมูล และหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อพิสูจน์ว่า “เขากระโดง” มีเจ้าของตัวจริง คือ รฟท.ที่เป็นผู้มีเอกสิทธิ์ในการถือครอง ตั้งแต่การเวนคืนที่ดินปี 2462 สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจแนวทางรถไฟ เป็นไปตามพระราชโองการ เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่มีอยู่แล้วใน จ.นครราชสีมา
กระทั่งต่อมา ได้มีคำพิพากษา “ศาลฎีกา” และ “ศาลปกครอง” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า
ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตร 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462
ขณะที่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ยังคงออกเอกสารชี้แจงรวม 3 ฉบับ อ้างว่า คณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ มีมติเอกฉันท์ “ไม่เพิกถอน” หนังสือแสดงสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดง ทุกอย่างดำเนินการถูกต้องตามข้อกฎหมาย โดยให้ รฟท.ไปพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลปกครองกลางในครั้งนี้