72 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดันแข่งขันการค้าไทยขึ้นท็อป 5 เอเชีย

72 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดันแข่งขันการค้าไทยขึ้นท็อป 5 เอเชีย

ครบรอบ 72 ปีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจ ขึ้นท็อปไฟว์เอเชียด้านการแข่งขันทางการค้า เน้นส่งเสริมเพิ่มมูลค่าการค้าตอบโจทย์เทรนด์โลก

Key Point

  •  วิสัยทัศน์ความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570
  • แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570)
  •  พันธกิจพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ
  • ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการไทย ขยายช่องทางตลาดแก่สินค้าและบริการไทย
  • ยกระดับคุณภาพการให้บริการสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ( DITP)  กระทรวงพาณิชย์ หรือที่รู้จักกันในนาม”กรมส่งออก” มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการส่งออก ขยายตลาด สินค้าและธุรกิจบริการของไทย พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและธุรกิจบริการส่งออก ให้บริการข้อมูลการค้าและเพิ่มศักยภาพ การแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกของประเทศไทย

12 มี.ค.2567 ครบรอบ 72 ปี การสถาปนากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 72 ปีที่ผ่านได้ดำเนินภารกิจตามวัตถุประสงค์การก่อตั้ง ด้วยการขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ เชื่อมโยงประสานงานกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันการส่งออกของไทย ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย

โดยกำหนดวิสัยทัศน์ความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570 ภายใต้พันธกิจพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการไทย ขยายช่องทางตลาดแก่สินค้าและบริการไทยยกระดับคุณภาพการให้บริการสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง

 จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้กำหนดแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ใน 5 เรื่อง ได้แก่1. สร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและธุรกิจบริการไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการMegatrends และ Next Normal

72 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดันแข่งขันการค้าไทยขึ้นท็อป 5 เอเชีย

2. รุกตลาดศักยภาพเดิม เปิดเพิ่มตลาดใหม่ และขยายสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก 3. ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจแฟลตฟอร์ม (Platform Economy) 4. ศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ และ 5. ยกระดับการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ขณะเดียวกัน จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ที่ต้องเป็นผู้ทำงานอุทิศตนให้กับงาน ไม่ว่างานหนักแค่ไหนก็สู้ มีความสามัคคี เป็นคนดี คนเก่ง และที่สำคัญ คือ มีจริยธรรม เพราะถือเป็นความภาคภูมิใจ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของกรมที่ถ่ายทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย จนมาเป็นค่านิยมขององค์กร DITP DRIVE ที่ยึดถือมานานกว่า 10 ปี และยังผลักดันให้ดำเนินต่อไป โดย D = Dedicated มุ่งมั่น ขยัน อดทน R = Responsive ผลลัพธ์ฉับไว I = Integrity ธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม V = Value Creation สร้างสรรค์สิ่งใหม่ E = Excellent เพื่อการค้าไทยเป็นเลิศ

 “ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ “อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมพัฒนาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกับภาคเอกชนตลอดเวลา เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญของประเทศเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “ความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570”

โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการส่งออก ที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม การสอดแทรกคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย และผลักดันเป็น Soft Power ไทยสู่เวทีโลก เพื่อสร้างความต้องการสินค้าไทย การพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น เพื่อการเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก

 

 “เน้นการทำงานเป็นทีม โดยให้ความสำคัญกับทุกความเห็น เปิดกว้างรับฟังคนตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือลูกจ้าง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เนื่องจากการขับเคลื่อนองค์กรต้องอาศัยทุกองคาพยพ คนตัวเล็ก ๆสามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ อยู่ที่การสร้างช่องทางการสื่อสารให้เขาสามารถแสดงความเห็น รวมทั้งจับมือกับภาคเอกชนเพื่อเดินหน้าผลักดันการส่งออกของประเทศ”

 

สำหรับแผนงานประเด็นและเป้าหมาย ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่  1. สร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและธุรกิจบริการไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ Megatrends และ Next Normal โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าการเจรจาการค้าผ่านกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 30%  ภายในปี 2570 (ใช้ข้อมูลค่าเป้าหมายตัวชี้วัดปี 2566 เป็นปีฐาน)

2.รุกตลาดศักยภาพเดิม เปิดเพิ่มตลาดใหม่ และขยายสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยการสร้างมูลค่าการเจรจาการค้าผ่านกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 10%  ภายในปี 2570

3 .ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจแฟลตฟอร์ม (Platform Economy) ด้วยการสร้างมูลค่าการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com และเครือข่ายพันธมิตรออนไลน์เพิ่มขึ้น10 % ภายในปี 2570

4.พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่โ ดยให้ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ในการทาการค้าระหว่างประเทศทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพิ่มขึ้น  30% ภายในปี 2570

5. ยกระดับการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับบริการด้านการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 % ภายในปี 2570