ต้องกู้มาใช้จ่าย เรียก ‘เงินฝืด’ ได้หรือไม่?

ต้องกู้มาใช้จ่าย เรียก ‘เงินฝืด’ ได้หรือไม่?

ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้น “สินเชื่อส่วนบุคคล” หรือ “พีโลน” ที่ขยายตัวสูงถึง 15.6% โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ยอดขอกู้เพิ่มถึง 40.2% ในไตรมาส 3 ปี 2566 สะท้อนปัญหาการขาดสภาพคล่องที่รุนแรงของภาคครัวเรือนในคนกลุ่มล่าง

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายๆ ตัวยังไม่สู้ดีนัก ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยตัวเลข “เงินเฟ้อ” เดือน ก.พ. 2567 ปรากฏว่า หดตัวลงอีก 0.77% เป็นการติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 5 ซึ่งทาง สนค. ยังประเมินด้วยว่า เงินเฟ้อไทยมีโอกาสหดตัวต่อเนื่องในเดือนมี.ค.และเม.ย. จากมาตรการตรึงราคาพลังงาน หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน  พ.ค. ถ้าภาครัฐไม่ต่ออายุมาตรการเหล่านี้ออกไป

คำถาม คือ เงินเฟ้อที่ติดลบยาวนาน 5 เดือน เรียกว่า เข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” แล้วหรือไม่ ประเด็นนี้ถ้านำไปถาม “แบงก์ชาติ” ก็คงได้คำตอบแบบชัดๆ ว่า “ไม่” เพราะที่ผ่านมาแบงก์ชาติกังวลเพียงเรื่องเดียว คือ “เงินเฟ้อ” ดังนั้นปัญหาเงินฝืดจึงอาจไม่อยู่ในสายตาแบงก์ชาติ ..เราพาย้อนไปดูนิยามของคำว่า “เงินฝืด” กันหน่อย ซึ่งความหมายของเงินฝืดในทางทฤษฎี คือภาวะที่ราคาสินค้าบริการลดลงเรื่อยๆ ปกติอาการของเงินฝืดที่จะเห็นแบบชัดๆ คือ ตัวเลขเงินเฟ้อหดตัว และเป็นการหดตัวลงต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้เกิดจากสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในกรณีของไทยอาจมีประเด็นว่า เงินเฟ้อที่หดตัวส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐ  ถ้าตัดมาตรการนี้ออก เงินเฟ้อบ้านเราก็อาจเป็นบวกได้เล็กๆ น้อยๆ 

ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองประเด็นเงินเฟ้อไทยว่า เงินเฟ้อที่ติดลบเป็นการติดลบแบบ “เฉพาะกิจ” จากมาตรการตรึงราคาพลังงาน และยังมาจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่ต่อเนื่องจากปีก่อนซึ่งเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์หมูทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มสูงขึ้นมาก แต่ปัจจุบันสถานการณ์นี้คลี่คลายไปแล้ว ราคาหมูก็ร่วงลงมาจึงมีผลต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงด้วย จึงสรุปได้ว่า ไทยอาจจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่แท้จริง แม้ว่าเงินเฟ้อจะหดตัวลงต่อเนื่องมา 5 เดือนแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากเราส่องไปที่กระเป๋าเงินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะประชาชนคนกลุ่มกลาง-ล่าง จะพบสัญญาณความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้รายได้ลดลงแต่ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ข้อมูลของ สศช. ระบุว่า ค่าจ้างโดยเฉพาะในภาพรวมของแรงงานไทย ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 15,382 บาทต่อเดือน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 15,416 บาทต่อเดือน หรือลดลงราว 0.22% สะท้อนว่า 1 ปีที่ผ่านมาค่าแรงของคนเหล่านี้นอกจากไม่ขยับขึ้นแล้วยังลดลงด้วยซ้ำ แตกต่างจากดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นมาราวๆ 1.25-1.5% คนกลุ่มนี้จึงเดือดร้อนในแบบที่บางหน่วยงานอาจมองไม่เห็น

ข้อมูลของ สศช. ยังชี้ด้วยว่า ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้น “สินเชื่อส่วนบุคคล” หรือ “พีโลน” ที่ขยายตัวสูงถึง 15.6% โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ยอดขอกู้เพิ่มถึง 40.2% ในไตรมาส 3 ปี 2566 สะท้อนปัญหาการขาดสภาพคล่องที่รุนแรงของภาคครัวเรือนในคนกลุ่มล่าง ซึ่งคนกลุ่มนี้ข้อมูลชี้ชัดอยู่แล้วว่า รายได้ยังไม่ฟื้น ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินเข้ามาจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อประทังชีวิต ไม่รู้แบบนี้เราจะเรียกว่า “เงินฝืด” ได้หรือไม่?