จับสัญญาณไทยเข้าสู่ "เงินฝืด" หรือยัง? หลัง "เงินเฟ้อ" ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือน

จับสัญญาณไทยเข้าสู่ "เงินฝืด" หรือยัง? หลัง "เงินเฟ้อ" ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือน

"นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ " ชี้ ไทยยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด หลัง เงินเฟ้อไทยลดลงต่อเนื่อง 5 เดือน ตามราคาอาหารและมาตรการตรึงค่าพลังงานของรัฐ เป็นเพียงเงินฝืดทางเทคนิค ด้าน สนค.คาดเงินเฟ้อไทยกลับมาเป็นบวกได้เดือนพ.ค.หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาพลังงาน

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อของไทยเดือน ก.พ .67 ติดลบ 0.77 % ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมา รวมทั้งน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันชองปี 66 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาเดือนก.พ.ปี 66 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง

ทั้งนี้เงินเฟ้อของไทยติดลบมาตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 66  ที่ติดลบ 0.31 %   พ.ย. ติดลบ 0.44 % ธ.ค. ติดลบ 0.83 % และเดือนม.ค.ปี 67 ติดลบ 1.11 % ถือว่าต่ำสุดในรอบ 35 เดือน  และแม้ว่าเงินเฟ้อของไทยจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และมีแนวโน้มจะติดลบต่อไปอีกในเดือน มี.ค.และเม.ย.

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ยังคงยืนยันว่า ไทยยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไทยไม่เข้าข่ายเงินฝืด โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ และราคาสินค้าที่เคลื่อนไหวขึ้น-ลง ตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรก สนค..ประเมินว่า เงินเฟ้อของไทยจะติดลบ 0.7-0.8%

โดยความหมายของ”เงินฝืด” คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ โดยปกติ อาการของภาวะเงินฝืดที่เห็นได้ชัดคือ เราจะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นตัวเลขติดลบ โดยตัวเลขที่ติดลบดังกล่าว จะต้องมีสาเหตุมาจากการที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

จับสัญญาณไทยเข้าสู่ \"เงินฝืด\" หรือยัง? หลัง \"เงินเฟ้อ\" ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือน

เมื่อวิเคราะห์สาเหตุหลักๆของเงินเฟ้อไทยที่ลดลง มาจากราคาอาหารสดทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักในตะกร้าการคำนวณเงินเฟ้อ

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สินค้าที่เป็นตัวหลักราคาลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. ปี 66   โดยเนื้อหมูราคาหน้าฟาร์ม อยู่ที่ 67.22 บาทต่อกก.  แต่ปี 66 เนื้อหมูราคาอยู่ที่ 93.88 บาทต่อ กก.  ค่าไฟฟ้า ราคา 3.99 บาทต่อหน่วย แต่ปี 66 ค่าไฟฟ้าอยู่ที่4.19 บาทต่อหน่วย ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ลิตรละ  29.94 บาท แต่ปี 66 ราคาอยู่ที่ลิตรละ 34.57 บาทต่อหน่วย  นอกจากนี้ราคาผักสดก็ปรับลดลงหลายรายการ

ทั้งนี้เนื้อสุกรลดลงคิดเป็นสัดส่วน 18.54 %  ผักสดลดลง 6.94 %  ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 3.20 %และค่าไฟฟ้าลดลง 4.84 % ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นตัวหลักในตะกร้าเงินเฟ้อของไทย

สอดคล้องกับข้อมูลของกรมการค้าภายในที่รายงานสถานการณ์ราคาสินค้าพบว่า ในช่วงนี้ราคาผักสดหลายรายการ เช่น  แตงกวา ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี เป็นต้น เนื่องจากปริมาณผลออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะที่เนื้อสุกรมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นเกินกว่าความต้องการของตลาด โดยกรมการค้าภายในระบุว่า ปกติ ปริมาณหมูออกสู่ตลาดเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นตัว แต่ขณะนี้อยู่ที่ 5.8 หมื่นตัว  เกินความต้องการถึง 8 หมื่นตัว ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูลดลง

“ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัย หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเกิน 5 เดือนทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเข้าภาวะเงินฝืด  ซึ่งเมื่อประชาชนได้ยินก็จะกังวล และตกใจ

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ.ยังติดลบ 0.77 % และคาดว่าเดือนมี.ค.-เม.ย.จะติดลบต่อแต่พ.ค.จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้หลังสิ้นสุดมาตรการลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อที่ติดลบเป็นการติดลบ“ แบบเฉพาะกิจ”จากการตรึงราคาพลังงาน และมาจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์หมูทำให้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปรับสูงขึ้นกว่า 150 บาทต่อกก. ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์อื่นๆปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อเนื้ออื่นๆ เช่น เนื้อไก่  แต่ปัจจุบันปัญหาคลี่คลายลงทำให้ราคาตกมาอยู่ที่ 100 บาทต่อกก.ถือเป็นการกลับมาสู่ภาวะปกติ ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ลดลง และราคาผักสดก็ลดลง จากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

“หากดูเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารและพลังงานออก จะเห็นว่ายังเป็นบวก นั่นแสดงว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ในเชิงเศรษฐกิจ การที่สินค้าลดลงในทางเศรษฐศาสตร์คือ คนไม่ซื้อของ นี่คือ ภาวะเงินฝืด ที่น่ากลัว  แต่ปัจจุบันเงินเฟ้อที่ลดลงมาจากการตรึงราคาพลังงานทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการลดลง ถือว่าเป็นผลดีในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นเงินฝืดทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ”นายธนวรรธน์ กล่าว

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่แท้จริง แต่คงต้องจับตาว่า ในเดือนพ.ค.รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการตรึงราคาพลังงานต่อไปอีกหรือไม่ เพราะราคาพลังงานถือเป็นสินค้าหลักในตะกร้าเงินเฟ้อ