ส.อ.ท.รับมือ 'เด็กเกิดน้อย' ชงวาระแห่งชาติ 'เพิ่มผลิตภาพแรงงาน'

ส.อ.ท.รับมือ 'เด็กเกิดน้อย' ชงวาระแห่งชาติ 'เพิ่มผลิตภาพแรงงาน'

“ส.อ.ท.” รับไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยกระทบตลาดแรงงาน เปิด 8 แผนรับมือ พร้อมเสนอภาครัฐดันผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มมาตรการจูงใจนายจ้าง จัดหลักสูตรเพิ่มทักษะความสามารถส่งเสริมผู้สูงวัยปรับตัวตามตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป

KEY

POINTS

  • "อิศเรศ" รองประธาน ส.อ.ท. ยอมรับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ กระทบแรงงานในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ 
  • ภาคอุตสาหกรรม เปิด 8 แผนรับมือปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงาน 
  • "ส.อ.ท." มีข้อเสนอแนะภาครัฐ โดยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง โดยผลักดันให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ
  • ภาครัฐควรปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น ลดค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของครัวเรือน ค่าเล่าเรียนบุตร เพื่อลดภาระให้กับแรงงาน
  • ภาครัฐควรจัดหลักสูตรเพิ่มทักษะความสามารถส่งเสริมผู้สูงวัยปรับตัวตามตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป

“ส.อ.ท.” รับไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยกระทบตลาดแรงงาน เปิด 8 แผนรับมือ พร้อมเสนอภาครัฐดันผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มมาตรการจูงใจนายจ้าง จัดหลักสูตรเพิ่มทักษะความสามารถส่งเสริมผู้สูงวัยปรับตัวตามตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สิ้นเดือนธ.ค. 2566 พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือราว 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,052,615 คน

ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยมีผลกระทบกับจำนวนแรงงานในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับจำนวนคนตายมากกว่าเกิด โดยปี 2566 มีจำนวนคนตายมากกว่าเกิด 48,058 คน และเมื่อวัยแรงงานลดลง เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการใช้แรงงานสูง ทำให้มีต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติหลายล้านคน เพื่อพยุงประเทศให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่จะมีความกังวลด้านการบริโภคและกำลังซื้อครัวเรือนที่อาจลดลงต่อเนื่องและไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนหลักได้

นอกจากนี้ จากสถานการณ์การจ้างงาน (ธ.ค. 66) โดยผู้ประกันตน ม.33 มีจำนวน 11.89 ล้านคน เพิ่มขึ้น 252,876 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 2.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนแรงงานต่างด้าวในไทยที่ได้รับอนุญาตทำงานอยู่ที่ 2,613,373 คน ลดลง 12.73% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 2,994,453 คน)

ทั้งนี้ ตามรายงานของ Global Talent Competitiveness index by INSEAD เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก ปี 2566 (จาก 134 ประเทศ) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามที่อยู่ในอันดับ 75 ไทยยังอยู่ในอันดับที่น้อยกว่า

นายอิศเรศ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวรับมือปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงาน คือ

1. นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ เช่น ระบบ Automation & Robots ในกระบวนการผลิต การใช้ E-Commerce การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจมากขึ้น การนำข้อมูล Big data มาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึง รองรับกำลังแรงงานที่อาจลดลงในอนาคต

2. ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน Upskill / Reskill เพื่อเป็นการเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป

3. ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายและบริหารสต๊อกสินค้า เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทางธุรกิจ

4. ปรับโมเดลธุรกิจเพื่อโอกาสในการเข้าไปมีส่วนใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย (S-Curve) เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสหากรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมชีวภาพ ฯลฯ

5. เจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศGCC, ลาตินอเมริกา, แอฟริกา เป็นต้น รวมทั้ง การใช้สิทธิ FTA ที่มีอยู่ให้มากขึ้น

6. การลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและตอบโจทย์ความต้องการของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม การมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย

7. การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และมีการสำรองเงินทุนใช้ในยามฉุกเฉิน โดยจำเป็นต้องเตรียมเงินทุนหมุนเวียน ให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทธุรกิจ เพื่อความคล่องตัวของธุรกิจ

8. การให้ความสำคัญกับการรักษาห่วงโซ่อุปทานในการผลิต (Supply Chain Security) โดยมีการกระจายแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ Supply Chain Shortage

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะ คือ การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง โดยผลักดันให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (The National Agenda for Labour Productivity) โดยกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงหลักประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้ง Up-Skill/ Re-Skill/ Multi-Skill/ Future-Skill ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน สอดรับเศรษฐกิจยุคใหม่ (Digital)

พร้อมกับส่งเสริมสถานประกอบการ ทำระบบ Lean Manufacturing เพื่อลดการสูญเสีย จนไปสู่ Digital Transformation โดยภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ, ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ที่สามารถสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง STEM (วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics))

นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน โดยส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) รวมทั้ง ผลักดันให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานครบทุกสาขาอาชีพ และปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานและเพิ่มผลผลิตให้กับนายจ้าง และสามารถลดต้นทุนต่อหน่วย

อีกทั้ง กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ โดยเพิ่มศูนย์ทดสอบมาตรฐานเพื่อรองรับการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น พร้อมกับสนับสนุนค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน/มาตรฐานอาชีพให้แก่ผู้เข้าสอบหรือสถานประกอบการ เพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลแรงงานที่ผ่านการทดสอบในสาขาต่าง ๆ เพื่อผู้ประกอบการสามารถเข้าค้นหาโดยง่าย ตอบสนองอุปสงค์และอุปทาน

“ภาครัฐควรปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น ลดค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของครัวเรือน ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น เพื่อลดภาระให้กับแรงงาน อีกทั้ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้นำมาตรฐานฝีมือแรงงานซึ่งจัดทำร่วมกับภาคอุตสาหกรรมจำนวน 88 สาขา ที่ออกประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว แต่ยังไม่ได้นำมาทดสอบ เพราะยังไม่มีศูนย์ทดสอบ จึงควรนำร่องทดสอบในสาขาที่มีความเป็นไปได้”

นายอิศเรศ กล่าวว่า รัฐควรออกมาตรการจูงใจผู้ประกอบการในการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัย เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาทักษะผู้สูงอายุทั้ง Up-Skill และ Re-Skill เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้ตามตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมจัดทำฐานข้อมูลแรงงานผู้สูงวัย (Big Data) เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้นำฐานข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการด้านอุปสงค์ (Demand) ของผู้ประกอบการ