แลนด์บริดจ์ ต้องคิดให้ดีๆ | โรจน์ คุณเอนก

แลนด์บริดจ์ ต้องคิดให้ดีๆ | โรจน์ คุณเอนก

เชื่อไหมว่าย้อนหลังไปกว่าพันปี เราเคยมีแลนด์บริดจ์! หลักฐานปรากฏว่าโลกในยุคโบราณ ดินแดนสุวรรณภูมิมีผู้คนอยู่อาศัยหลายแห่งกระจายในบริเวณที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันนี้ มีการค้นพบร่องรอยคูเมือง-กำแพงเมืองที่แสดงถึงการเป็นบ้านเมืองนับเป็นพันแห่ง

ผู้คนเหล่านี้ยังมีการติดต่อกับบ้านเมืองที่อยู่ไกลออกไปในโพ้นทะเล ดังปรากฏหลักฐานเรือโบราณจากอาหรับที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1200-1300 ฝังดินอยู่ในนากุ้งของ นางพนม และนายสุรินทร์ ศรีงามดี ที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 

เรือลำนี้ต่อแบบต่อเปลือกเรือก่อน (shell-first) โดยใช้เชือกผูกยึดกาบเรือติดกันเป็นกากบาท ซึ่งการหมันเรือเช่นนี้เป็นที่นิยมในอาหรับถึงอินเดียใต้ไม่ผิดเพี้ยน อีกทั้งเมื่อดำเนินงานทางโบราณคดีพบภาชนะดินเผาแบบ  แอมเฟอรา (Amphora) หรือที่ฝรั่งเรียก “Torpedo Jar” เป็นภาชนะดินเผาที่นิยมแถบเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกกลาง

ทั้งยังพบภาชนะดินเผาจากเมืองกว่างโจวของจีน แสดงถึงการค้าขายระหว่างอาหรับในช่วงราชวงศ์อับบาซิยะฮ์ (The Abbasid Dynasty) กับจีนในช่วงราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) ซึ่งอยู่ในช่วงทวารวดี ปัจจุบันเรือพนมสุรินทร์ (ตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ) จึงมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเดินเรือในอดีตจะเลาะไปตามชายฝั่ง เมื่อเรือมาถึงชายฝั่งทางทะเลอันดามันจะไม่นิยมเดินเรืออ้อมลงไปจนสุดปลายแหลมที่เป็นประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบันนี้เพื่อเดินเรือขึ้นมาทางฝั่งทะเลอ่าวไทย

แต่เขาจะจอดที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน และลำเลียงสินค้าข้ามแผ่นดินไปยังทะเลฝั่งอ่าวไทย เพื่อส่งให้เรือในฝั่งนั้นเดินทางต่อไปยังประเทศจีน เส้นทางขนสินค้าเหล่านี้รู้จักกันในชื่อ “เส้นทางข้ามคาบสมุทร” 

หลักฐานทางโบราณคดีฉายภาพให้เห็นว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามันสู่อ่าวไทยนี้มีมาตั้งแต่ 500 ปีก่อนพุทธกาล และมีหลากหลายเส้นทาง

ข้อมูลจากการศึกษาของเชาวณา ไข่แก้ว ในวิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยตอนบน พบเส้นทางข้ามคาบสมุทรหลายเส้นทาง เช่น เมืองระนอง-ทุ่งตะโก กะเปอร์-หลังสวน ในช่วงกรุงธนบุรีต่อเนื่องรัตนโกสินทร์มีเส้นทางกระบุรี (ปากจั่น)-ปากน้ำชุมพร 

ดังนั้น แลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อพัน ๆ ปีมาแล้ว มีเส้นทางข้ามคาบสมุทร จากระนองไปชุมพร เช่นเดียวกัน เพียงแต่เส้นทางข้ามคาบสมุทรนั้นไม่ได้มีการก่อสร้างใหญ่โต ธรรมชาติเดิมแท้ยังคงอยู่ครบถ้วน

แลนด์บริดจ์ในปัจจุบันจึงต้องคิดให้รอบคอบว่า จะวางโครงการอย่างไรไม่ให้กระทบร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ นอกเหนือไปจากความคุ้มไม่คุ้มจากฝั่งนักลงทุน และความต้นทุนค่าขนส่งจากฝั่งผู้ใช้งาน

แลนด์บริดจ์ ต้องคิดให้ดีๆ | โรจน์ คุณเอนก

เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย หากโครงการแลนด์บริดจ์ส่งผลกระทบทำให้สภาพทางธรรมชาติและคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งเปลี่ยนไป ก็อาจทำให้โอกาสจะมีแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ในอนาคตล่มสลายไปได้

ดังนั้น การวางโครงการต้องระมัดระวังและคำนึงถึงผลกระทบในเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักด้วย หากจะต้องแลกด้วยการสูญเสียโอกาสนี้ไป ความคุ้มค่าของโครงการแลนด์บริดจ์จะลดลงอีกมากทีเดียว 

ปัจจุบันการล่องเรือสำราญ (Cruise Ship) ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมีระดับ มีเส้นทางจากอินเดียจอดเมืองท่ามังกาลอร์ (Mangalore) เมืองท่าโกจจิ (Cochin) ไปยังเมืองย่างกุ้ง (Rangoon) ของเมียนมา จากนั้นเลยลงไปเทียบท่าที่เมืองจอร์จทาวน์ของมาเลเซีย ก่อนที่จะล่องไปใช้สิงคโปร์เป็นจุดวกกลับ

ไทยไม่เคยมีจุดแวะพักในฝั่งทะเลอันดามันเพื่อดึงนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งเลย จะมีก็เพียงภูเก็ตซึ่งยังไม่ใช่ท่าเรือสำราญที่แท้จริง ดังนั้น หากจะลงทุนทั้งทีถ้าวางโครงการแลนด์บริดจ์ให้มีท่าเรือสำราญที่ระนองด้วย จะสร้างโอกาสทางด้านการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล  

ระนองมีแหล่งท่องเที่ยวรอต้อนรับอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งน้ำแร่ชั้นดี และท่าอากาศยานระนองจะคึกคักขึ้นด้วย เพราะนักท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญเหล่านี้เป็นประเภททั้งล่องเรือและบินกลับ (Ship and Fly) การมีท่าเรือสำราญที่ระนองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

แลนด์บริดจ์ ต้องคิดให้ดีๆ | โรจน์ คุณเอนก

เมื่อแลนด์บริดจ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องแรกคงต้องศึกษาเรียนรู้จากเส้นทางข้ามคาบสมุทรในอดีตให้ดี อย่าทำลายคุณค่าของเส้นทางในอดีต แต่ในทางกลับกันนำคุณค่าในอดีตกลับสู่ปัจจุบันด้วยการอนุรักษ์ปรับปรุงแหล่งโบราณคดีตามเส้นทางข้ามคาบสมุทร

ถัดมาคือการคำนึงถึงโอกาสการเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ และสุดท้ายการพ่วงท่าเรือสำราญเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว มุมเหล่านี้อาจยังไม่มีใครพูดถึง แต่จะละเลยไม่ได้เป็นอันขาด

ถึงตรงนี้รัฐบาลคงต้องคิดให้ดี ศึกษาเรียนรู้จากอดีต วางโครงการให้สมบูรณ์แบบในทุกมิติ เจรจากับผู้ลงทุนให้รู้เรื่องว่าแท้ที่จริงแล้วเราต้องการแลนด์บริดจ์ในรูปแบบไหน ข้อควรระวังคืออะไร เพื่อให้เส้นทางข้ามคาบสมุทรในอดีต ยังคงสะท้อนความรุ่งเรืองแห่งสุวรรณภูมิในชื่อแลนด์บริดจ์แห่งปัจจุบันได้ต่อไป

ตั้งสติและคิดให้ดี หนทางแลนด์บริดจ์ยังอีกยาวไกล อย่าคิดแค่วิ่งขายฝัน.