'คมนาคม' ปรับแผนพัฒนา 'ท่าอากาศยานอันดามัน' สู่ฮับเที่ยวบินอินเตอร์

'คมนาคม' ปรับแผนพัฒนา 'ท่าอากาศยานอันดามัน' สู่ฮับเที่ยวบินอินเตอร์

“คมนาคม” ปรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน เล็งรับเที่ยวบินอินเตอร์เป็นหลัก หลังพบดีมานด์ต่างชาติท่องเที่ยวพุ่งต่อเนื่อง ทอท.เคาะงบลงทุน 8 หมื่นล้านบาท ปักหมุดสร้างบนพื้นที่ 7,300 ไร่ จังหวัดพังงา คาดเสนอ ครม.อนุมัติตอกเสาเข็มปี 2571

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน โดยระบุว่า รัฐบาลมีนโบบายเร่งรัดการลงทุนโครงการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และระนอง เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ เพื่อกระขายความเจริญสู่จังหวัดรอบกลุ่มอันดามัน

อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาก่อนหน้านี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีแผนจะขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ตให้รองรับการให้บริการผู้โดยสาร ทั้งภายในประเทศ (Domestic) และระหว่างประเทศ ( International) แต่ขณะนี้รับทราบจากการสำรวจข้อมูลว่า ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเดินทางมายังภูเก็ตจำนวนมาก จึงมีแนวคิดพัฒนาให้ท่าอากาศยานอันดามัน เป็นท่าอากาศยานรองรับเฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตเดิมจะปรับรองรับผู้โดยสารในประเทศ เพื่อลดความแออัด

ขณะที่การเดินทางระหว่างท่าอากาศยานทั้งสองแห่ง ผลการศึกษาก็พบว่าที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมาก ระยะเวลาการเดินทางระหว่างสองท่าอากาศยาน ประมาณ 15 นาที สามารถนำระบบขนส่งมวลชนมาเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งกระทรวงฯ จึงมอบนโยบายให้ ทอท.ไปปรับแผนการพัฒนาและดำเนินการให้ชัดเจน

\'คมนาคม\' ปรับแผนพัฒนา \'ท่าอากาศยานอันดามัน\' สู่ฮับเที่ยวบินอินเตอร์

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) โดยระบุว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเหมาะสม และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้

โดยเบื้องต้นโครงการจะพัฒนาบนพื้นที่ตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ประมาณ 7,300 ไร่ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสม และมีศักยภาพมากที่สุด โดยมีแนวร่อนลงของอากาศยาน ที่ไม่มีภูเขาเป็นอุปสรรคในการทำการบินลงจอด อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่ออย่างสะดวก

\'คมนาคม\' ปรับแผนพัฒนา \'ท่าอากาศยานอันดามัน\' สู่ฮับเที่ยวบินอินเตอร์

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ทอท. จะปรับแผนการดำเนินงานการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งเดิมจะให้เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ รองรับทั้งการเดินทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องปรับให้ท่าอากาศยานอันดามัน เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้จะให้บริการในลักษณะเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทางที่ทำการบินระหว่างจังหวัด (Point - to - Point) หรือเส้นทางการบินแบบต่อเครื่องบิน (Connecting Flight) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางต่อเครื่อง จากเส้นทางระหว่างประเทศไปยังเส้นทางต่างๆ ภายในประเทศ ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต จะปรับรองรับเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินให้มากขึ้น

\'คมนาคม\' ปรับแผนพัฒนา \'ท่าอากาศยานอันดามัน\' สู่ฮับเที่ยวบินอินเตอร์

สำหรับวงเงินการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 8 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็น งานเขตการบิน 2.8 หมื่นล้านบาท งานอาคารผู้โดยสาร 2.5 หมื่นล้านบาท งานสนับสนุนและสาธารณูปโภค 1.5 หมื่นล้านบาท และสำรองราคาและภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท โดยท่าอากาศยานแห่งนี้จะมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารให้ได้สูงสุด 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ กรอบการดำเนินงานหลังจากทำการศึกษาแล้วเสร็จ ทอท.จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ก่อนขอรับการอนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หลังจากนั้นจะนำกลับมาเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติก่อสร้างอีกครั้ง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2571 แล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2574