ความหวังคนไทยตลอดปี67 ‘พีระพันธุ์’ รื้อ ลด ปลด สร้าง 'ไม่สนกลุ่มทุน'

ความหวังคนไทยตลอดปี67 ‘พีระพันธุ์’ รื้อ ลด ปลด สร้าง 'ไม่สนกลุ่มทุน'

ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการแก้ปัญหาราคาพลังงาน โดยเฉพาะ “ค่าไฟ” งวดพ.ค.-ส.ค. 2567 ว่า "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ได้จริงตามคำมั่นสัญญาหรือไม่

Key points

  • "พีระพันธุ์" เดินหน้านโยบาย "รื้อ ลด ปลด สร้าง" ทำราคาพลังงาน
  • ตลอดทั้งปี 2567 ลุยแก้กฏหมายราคาพลังงาน ไม่สนกลุ่มนายทุน ย้ำ นายทุนตัวจริงคือประชาชน
  • "พีระพันธุ์" ย้ำ เอกชนไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง ส่งผลให้ราคาหน้าโรงกลั่นไม่ตรงกับ สนพ. จึงเดินต้องรื้อโครงสร้างเอง
  • หวั่นยอดใช้อีวีพุ่ง ดันปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงในเวลากลางคืน เร่งเตรียมแผนรองรับความต้องการระยะยาว

การแก้ราคาค่าไฟให้ถูกกว่าต้นทุนจริงตลอดระยะเวลากว่า 2  ปี ส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงรับภาระไว้หลัก 1 แสนล้านบาท ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แม้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะปรับปรุงตามมาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ลดลงได้ 10.01 สตางค์ต่อหน่วย

แต่สิ่งสำคัญที่ประชาชนและเอกชนคาดหวังและไม่อยากรอลุ้นค่าไฟทุก 4 เดือน คือ การแก้ปัญหาระยะยาว โดย "อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชูประเด็นแก้ไขผ่านการรื้อโครงสร้างโดยเฉพาะแก้ไขด้านปริมาณ (Supply) ไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการ (Demand), ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ควรลดมาร์จินและยืดเวลาโดยสัญญาใหม่ควรลดผลตอบแทนลง (Low risk, Low return) 

รวมถึงปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ (NG) เพื่อลดมาร์จิน ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP / ลดค่าผ่านท่อก๊าซฯให้เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาทั้ง NG และLNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) กำหนดราคาขายก๊าซผู้ผลิตไฟฟ้าทุกประเภท (IPP SPP IPS) ให้เป็นราคาเดียวกันกับ IPP เป็นต้น

รมว.พีระพันธุ์ ย้ำว่า ตลอดทั้งปี 2567 จะเดินหน้าร่างกฏหมายเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานเป็นหลัก เนื่องจากรูปแบบที่ใช้ในปัจจุบันมีการใช้มายาวนาน ยอมรับว่าโครงสร้างสัญญาไฟฟ้าหลายสัญญามีปัญหา อาจต้องขอความร่วมมือ เพราะเป้าหมายส่วนตัวต้องการให้ปรับปรุงเพื่อความเป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงปัญหาปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ที่มาจากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย จะเห็นว่าปี 2566 จุดพีคอยู่ในช่วงเวลากลางคืนกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งแนวโน้มปีนี้และอนาคตจะมีรถ EV เพิ่มขึ้นทะลุหลักแสนหลักล้านคัน เมื่อมีการชาร์จไฟพร้อมกันในเวลากลางคืนจะเป็นปัญหา กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาว่าถ้าตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นที่ยังไม่ตรงกับตารางของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สาเหตุมาจากเอกชนไม่ให้ข้อมูล ตนจึงต้องรื้อ เพื่อให้ตรงกัน การเป็นรัฐบาลสิ่งที่ทำได้คือ ร่วมมือกับภาครัฐ และลดในส่วนของภาครัฐ เพราะเอกชนคงไม่ช่วยตรงนี้

รมว.พีรพันธุ์ ยอมรับว่า เรื่องของกฎหมายเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะมอง ตนในฐานะรัฐบาลจะต้องยึดความเป็นกลาง บางคนบอกว่าเมื่อรื้อกฏหมาย จะไปกระทบนายทุนทางการเมือง ยืนยันว่า “ผมไม่มีนายทุน เพราะนายทุนคือประชาชน

สิ่งที่เห็นชัดคือ ท่าน รมว.พลังงาน จะขึงขังทุกครั้งเมื่อโดนถามเรื่องรื้อโครงสร้าง พร้อมตอบกลับด้วยท่าทีเสียงดังว่า “กฎหมายพลังงานเกิดมาเป็น10 ปี ทำไมไม่มีใครตาม ตนมาทำไม่กี่วันมาตามทำไม” 

เมื่อทราบถึงความตั้งใจจริงของท่านรมว.พลังงานแล้ว หวังว่าตลอดปีนี้ จะได้เห็นโครงสร้างราคาพลังงานในแบบฉบับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ออกมาเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง