'พีระพันธุ์' ชี้ไม่ยุ่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. โยนบอร์ดชี้ขาดขั้นตอนสรรหา

'พีระพันธุ์' ชี้ไม่ยุ่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. โยนบอร์ดชี้ขาดขั้นตอนสรรหา

"พีระพันธุ์" ยืนยันไม่ก้าวก่ายกระบวนการสรรหาบอร์ด กฟผ. ยันเป็นหน้าที่ของ คนร. ส่วนขั้นตอนการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ. เป็นหน้าที่บอร์ดใหม่ที่จะพิจารณา

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง ขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566 นั้น ยังต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ดกฟผ.) ชุดใหม่ หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 

อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ระบุถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการ กฟผ. ที่จะต้องมีการเปิดรับสมัครคณะกรรมการฯ ดังนั้น เรื่องของการแต่งตั้งบอร์ด กฟผ. จึงไม่เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน แต่เป็นหน้าที่ของ คนร. ซึ่ง การจะแต่งตั้งแล้วเสร็จเมื่อไหร่นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับ คนร. กระทรวงพลังงานไม่สามารถทราบได้

อย่างไรก็ตาม หากคนร. มีการแต่งตั้งบอร์ด กฟผ. แล้วเสร็จ ค่อยเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ภายหลังมีมติเห็นชอบ นอกจากนี้ ในส่วนของการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ก็คงเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร กฟผ. ที่จะต้องหารือกับบอร์ดกฟผ.ชุดใหม่ ว่าจะมีมาตรการอย่างไร

"กระบวนการสรรหาฯ ผู้ว่าการ กฟผ. จะไม่เกี่ยวกับตน และตนคงไม่เข้าไปยุ่ง จึงไม่ทราบว่าจะใช้วิธีการเปิดรับสมัครใมหม่ หรือการเรียกผู้ที่บอร์ดชุดเก่ามีมติเห็นชอบมาพูดคุยตกลงกันอย่างไร ซึ่งเหมือนกับการสรรหาบอร์ดกฟผ. ที่ตนก็ไม่เข้าไปก้าวกายเรื่องภายในกฟผ. ส่วนหนี้สะสมที่กฟผ. รับภาระกว่า 1 แสนล้านบาท ยืนยันว่าไม่มีปัญหาภายในแน่นอน"

รายงานข่าวระบุว่า นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า บอร์ด กฟผ. จะสามารถจัดตั้งได้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค. 2567 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้กฟผ. ต้องขาดผู้ว่าการ เนื่องจากเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นให้อำนาจ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันอนุมัตินายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ภายหลังผ่านขั้นตอนการสรรหา 

อีกทั้งบอร์ด กฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566 ไปแล้วก็ตาม แต่ภายหลังรัฐบาลรักษาการได้เสนอรายชื่อให้ครม. เห็นชอบ แต่ด้วยมีข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ จึงต้องให้ กกต. เป็นผู้ร่วมเห็นชอบ จึงส่งผลให้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กฟผ. เกิดการเว้นว่างมาราวตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 

สำหรับโจทย์หลัก ๆ ที่ บอร์ดกฟผ. จะให้นายเทพรัตน์ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ อาทิ การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น