คนไทยเสียโอกาส ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ เปิดไม่ทัน ซีเกมส์ 2025

คนไทยเสียโอกาส  ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ เปิดไม่ทัน ซีเกมส์ 2025

ตรวจการบ้าน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ดีเลย์กว่า 3 ปี หลังติดหล่มข้อพิพาทหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ทำคนไทยเสียโอกาสใช้บริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี แม้งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ 100% พร้อมสูญโอกาสหนุนอีเวนต์ใหญ่ “ซีเกมส์ 2025”

Key Points

  • รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนงานโยธาสร้างเสร็จแล้ว 100% เหลือเพียงการวางระบบรถไฟฟ้า
  • การเปิดให้บริการดีเลย์กว่าแผน 3 ปี หลังจากที่มีการผูกสัญญาวางระบบและการเดินรถไว้กับการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าตะวันตก ช่วงช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางขุนนนท์
  • การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ล่าช้า สร้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 40,644 ล้านบาทต่อปี และรัฐเสียโอกาสจากการเก็บค่าโดยสารส่วนตะวันออก
  • หากเริ่มการจ้างวางระบบและผู้เดินรถจะใช้เวลาสั่งรถประกอบรถไฟฟ้าอย่างน้อย 2 ปี ทำให้เปิดใช้บริการไม่ทันการแข่งขัน "ซีเกมส์ 2025" ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานแน่นอน

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อัพเดตสถานะโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พบว่างานโยธาก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2566 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ เนื่องจากยังไม่ได้ลงนามสัญญาแก่เอกชนผู้ชนะการประมูลบริหารงานเดินรถ ที่ถูกบรรจุรวมไว้กับการประมูลก่อสร้างงานโยธาช่วง บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ และปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการศาลปกครองสูงสุดพิจารณาข้อพิพาท

ขณะที่ปัจจุบัน รฟม.ยังต้องเป็นผู้แบกรับภาระงบประมาณในการดูแลรักษา (Care of Work) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก เฉลี่ยเดือนละ 41.26 ล้านบาท ในการดูแลรักษาโครงสร้างโยธา ไม่นับรวมความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และการเงินอื่นๆ รวมไปถึงการเสียโอกาสด้านการใช้บริการรถไฟฟ้าของประชาชนที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

โดยก่อนหน้านี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยออกมาประเมินความเสียหายจากการล่าช้าของ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า

รฟม.ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี  ประกอบด้วย

1. ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาทต่อปี

รฟม.จะต้องเสียค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จ ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี เป็นเงิน 103 ล้านบาท/ปี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี เป็นเงิน 392 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงิน 495 ล้านบาทต่อปี

2. ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาทต่อปี

รฟม.ประเมินว่าจะเก็บค่าโดยสารส่วนตะวันออกในปีแรกที่เปิดให้บริการได้ 1,764 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถ้าเปิดช้าจะทำให้เสียโอกาสได้รับค่าโดยสารจำนวนนี้

3. ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาทต่อปี

การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้าจะทำให้ไม่สามารถบรรเทารถติดในพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียเวลาในการเดินทาง รฟม.จึงได้ประเมินเวลาที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงิน อีกทั้ง ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการใช้รถส่วนบุคคล เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงรักษา

สำหรับสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่ง รฟม.ได้ประเมินพบว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกช้าจะมีมูลค่าสูงถึง 40,644 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันความล่าช้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการสนับสนุนการเดินทางและรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากอีเวนต์ใหญ่แห่งปีที่ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัด “ซีเกมส์ 2025” เนื่องจากแนว เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก มีสถานี OR18 สถานีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

สถานีดังกล่าวตัวสถานีตั้งอยู่ติดกับถนนรามคำแหง บริเวณหน้าสนามกีฬาหัวหมาก มีทางขึ้นลงทั้งหมด 4 ด้านของสถานี คือ ซ.รามคำแหง 69 ซ.รามคำแหง 69/1 หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย และทางออกใกล้สถานีตำรวจรามคำแหง โดยในสนามกีฬาหัวหมากมีสนามที่จะใช้แข่งขันขัน คือ

  • สนามราชมังคลากีฬาสถาน
  • สนามอินดอร์สเตเดียม
  • สนามเวลโลโดม

รวมทั้งสนามกีฬาหัวหมากจะเป็นสนามกีฬาหลักในการแข่งขันซีเกสม์ครั้งนี้ ร่วมกับสนามกีฬาใจชลบุรีและสงขลา ที่เป็นเมืองร่วมการเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุก่อนหน้านี้ว่า กรณีที่โครงการเกิดความล่าช้า ผลกระทบที่เห็นชัดคือ ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟฟ้าไปอย่างน้อย 3 ปีแล้ว ซึ่งส่วนของงานโยธาฝั่งตะวันตกที่เพิ่งประมูลก็คงใช้เวลาอีกสักระยะ ส่วนสายตะวันออกหากลงนามสัญญากับเอกชนแล้ว รฟม.จะเร่งกระบวนการให้เปิดเดินรถ แต่ปัญหาความล่าช้าคือการสั่งต่อรถไฟฟ้าที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี