กทม.ปักธงจ่ายหนี้ เม.ย. BTS หวัง 2.3 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง

กทม.ปักธงจ่ายหนี้ เม.ย. BTS หวัง 2.3 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง

สภา กทม.อนุมัติจ่ายค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ปักธงจ่าย 4 เม.ย.2567 กรอบวงเงินรวมกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท “ชัชชาติ” เตรียมควักเงินสะสมจ่ายขาดปลอดภาระหนี้กว่า 5 หมื่นล้าน ด้าน “บีทีเอส” กางแผนนำเงินใช้หนี้ครบกำหนดชำระ

การประชุมสภากรุงเทพมหานคร วันที่ 17 ม.ค.2567 สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ปี 2567 เห็นชอบขอความเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ)

การประชุมดังกล่าวมีนายอำนาจ ปานเผือก ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายอำนาจให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครอภิปราย ก่อนที่จะลงมติเห็นชอบ 44 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่มีผู้ออกเสียงไม่เห็นชอบ

ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงต่อสภากรุงเทพมหานครว่า ภาระค่าใช้จ่ายระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรือ E&M ดำเนินการระหว่างกรุงเทพมหานคร และ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ทำสัญญากับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS โดยติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมครบกำหนดชำระ ซึ่งประมาณการรวมดอกเบี้ยถึงเดือน เม.ย.2567 อยู่ที่ 23,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ได้กำหนดกรอบหารดำเนินงานหลังจากที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ โดยหลังจากนี้จะรายงานกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครชำระค่างาน E&M หลังจากนั้นกรุงเทพมหานครจะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเสนอสภากรุงเทพมหานคร เพื่อทำการเบิกจ่ายงบประมาณ

สำหรับงาน E&M ประกอบด้วย งานระบบจัดเก็บตั๋ว งานระบบอาณัติสัญญาณ งานระบบสื่อสาร งานระบบจ่ายไฟ งานระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ งานระบบความปลอดภัย รวมถึงงานระบบอื่นๆ

‘บีทีเอส’ วางแผนนำเงินไปจ่ายหนี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการประสานจากกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ข้อมูลค่าจ้างงานเดินรถที่กรุงเทพมหนครค้างจ่ายอยู่ อัพเดตตัวเลขให้ตรงกัน แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการชำระค่าจ้างงานดังกล่าว ว่า กรุงเทพมหานครจะชำระครั้งเดียวหรือมีการแบ่งจ่าย 

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนนำเงินค่าจ้างงานดังกล่าวไปชำระหนี้กู้เงินที่นำมาบริหารสภาพคล่องก่อนหน้านี้ ซึ่งมีบางส่วนต้องครบกำหนดชำระ

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้หนี้ E&M ที่เอกชนจะได้รับ 23,000 ล้านบาท ยังเหลือหนี้จากการเดินรถและซ่อมบำรุงที่มีคดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด โดยมีภาระหนี้ถึงเดือน ต.ค.2566 รวม 2 ส่วน รวม 27,540 ล้านบาท แบ่งได้ดังนี้ 

1.ส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และ สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) วงเงิน 5,400 ล้านบาท 2.ส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ)  วงเงิน 22,000 ล้านบาท

มท.โยนภาระให้ กทม.จ่ายหนี้เอง

นายชัชชาติ อภิปรายว่า โครงการนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 เริ่มก่อนที่ฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานครชุดนี้จะเข้ามา และมีปัญหาหลายส่วน โดยร่างข้อบัญญัติขอจ่ายเงินสะสมจ่ายขาดสะสมเพื่อแก้ไขปัญหาจะเสนอสภากรุงเทพมหานครเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 ได้ติดตั้งระบบ E&M แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการแล้ว ซึ่งปัจจุบันมี 1.5 ล้านเที่ยวต่อวัน 

อีกทั้งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทยขอให้เสนอ ครม.ขอความเห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาว่าการขอสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน 

นอกจากนี้ ยังระบุให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบในส่วนใดก็ให้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนั้นไปได้ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ส่วนกรณีนอกเหนือจากจำนวนเงินดังกล่าว หากกรุงเทพมหานครจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเป็นจำนวนเท่าใดให้เสนออีกครั้ง 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเห็นว่าทรัพย์สิน E&M มีความสำคัญ หน่วยงานภาครัฐควรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพราะเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้รถไฟฟ้าขับเคลื่อนและให้บริการเดินรถได้ต่อเนื่อง โดยไม่ขึ้นว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ และหากกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้วจะทำให้เอกชนอ้างสิทธิ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ และปัจจุบันทรัพย์สินนั้นได้ติดตั้งแล้วเสร็จและครบกำหนดชำระแล้ว 

ชำระใน 4 เม.ย.จ่าย 2.3 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้เจรจาต่อรองกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยหากชำระภายในวันที่ 4 เม.ย.2567 จะมีกรอบวงเงินรวม 23,488 ล้านบาท ประกอบกับแนวทางการร่วมลงทุนที่กรุงเทพมหานครดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 ยังไม่ได้ข้อยุติจาก ครม.ซึ่งอาจเกิดการฟ้องร้องศาลปกครองได้ 

รวมถึงคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สภากรุงเทพมหานคร ศึกษาว่างาน E&M เป็นทรัพย์สินที่แยกออกมาดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบันถึงกำหนดชำระเงินแล้ว หากไม่แก้ปัญหาส่วนนี้จะเกิดภาระดอกเบี้ยและค่าปรับจำนวนมาก ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีแนวทางในการชำระค่า E&M ดังนี้

1.กรุงเทพมหานครเสนอสภากรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นชอบในโครงการรับมอบงานทรัพย์สิน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงินรวม 23,488 ล้านบาท

2.หากได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว กรุงเทพมหานครจะรายงานต่อกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครชำระค่างานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 ยังไม่ได้ข้อยุติ 

3.หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว กรุงเทพมหานครจะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมโดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร เสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้เมื่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบในโครงการรับมอบงานทรัพย์สิน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้แล้ว กรุงเทพมหานครจะดำเนินการตามแนวทางที่เสนอสภากรุงเทพมหานครพิจารณา

“ชัชชาติ”เสนอข้อบัญญัติของบ

นายชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบแล้วถือเป็นเรื่องดีที่จะได้เดินหน้าต่อ หลังจากนี้ต้องรอกระบวนการปรับปรุงความคิดเห็นของสภากรุงเทพมหานคร ก่อนออกข้อบัญญัติเพื่อของบประมาณเพิ่มเติม โดยกรุงเทพมหานนครจะใช้เงินสะสมจ่ายขาดเพื่อโอนทรัพย์สินจ่ายค้าจ้างงานส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเงินสะสมจ่ายขาดปลอดภาระหนี้ 51,200 ล้านบาท

ในขณะที่การพิจารณาญัตติดังกล่าวมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครอภิปรายหลายราย โดยนายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี