‘ดูไบ เวิลด์‘ สนใจ ‘แลนด์บริดจ์’ ‘เศรษฐา‘ สั่ง ‘คมนาคม’ พาลงพื้นที่

‘ดูไบ เวิลด์‘ สนใจ ‘แลนด์บริดจ์’ ‘เศรษฐา‘ สั่ง ‘คมนาคม’ พาลงพื้นที่

“เศรษฐา” ลุยภารกิจดาวอส ชูโครงการแลนด์บริดจ์ ยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญ หารือผู้บริหาร “ดูไบ พอร์ต” ในเครือดูไบ เวิลด์ สนใจโครงการเตรียมเดินทางมาศึกษาโครงการและดูสถานที่ในประเทศไทยด้วยตัวเอง สั่ง "คมนาคม" พาลงพื้นที่ลงทุน

วานนี้ (17 มกราคม 2567) เวลา 13.00 น.  (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุม Congress Centre เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมกิจกรรม Thailand Landbridge : Connecting ASEAN with the World ซึ่งได้นำเสนอให้กับนักลงทุนและภาคเอกชนชั้นนำ ซึ่งได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในวงกว้างถึงโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งหลายบริษัทสนใจและประสงค์นัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยในรายละเอียด

โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Sultan Ahmed bin Sulayem ประธานกลุ่มบริษัท และผู้บริหารของบริษัทดูไบ พอร์ต เวิลด์  (DP World) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ ซึ่งเป็น Operator ของท่าเรือแหลมฉบัง ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนจะมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมจะเดินทางมาหารือที่ประเทศไทย และจะเดินทางไปสำรวจสถานที่จริงด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะนำคณะเดินทางไปเอง

 Dubai Port World (DP World) บริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่าบริษัท Dubai Port World ถือว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่และเชี่ยวชาญการลงทุนและบริหารท่าเรือทั่วโลก รวมทั้งเป็นเจ้าของท่าเรือหลายแห่ง และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจน้ำมันด้วย

ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีได้หารือเพื่อดึงให้เข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ในไทยถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย เพราะหากบริษัทนี้สนใจมาลงทุนจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก

“ดูไบเวิล์ด”เหมาะเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้จุดขายสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ต้องทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งจะเกิดได้เมื่อแลนด์บริดจ์ลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งกระทรวงพลังงานเคยศึกษาว่าศักยภาพของแลนด์บริดจ์ลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 5-9 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นมากจากธุรกิจทางตรงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เหมือนที่สิงคโปร์มีรายได้สูงมากจากการเป็นเมืองท่าและบริหารโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการผลิตมากถึง 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“จุดขายของแลนด์บริดจ์นอกจากการขนส่งที่ลดเวลาลงโดยไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา กุญแจสำคัญของโครงการนี้คือการผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันและปิโตรเคมีควบคู่คาร์บอนเครดิตและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและจะทำให้โครงการน่าสนใจและคุ้มค่าการลงทุนเร็วขึ้น”

ส่วนกรณีที่บริษัท DP World เป็นบริษัทในเครือ ดูไบเวิลด์ที่เคยร่วมมือและศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ร่วมกับรัฐบาลสมัยพลังประชาชน นายพิชัย ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบันอย่างไร แต่สิ่งที่บอกได้คือหากเกี่ยวข้องกันหมายความว่าโครงการแลนด์บริดจ์ในไทยยังเป็นที่น่าสนใจของกลุ่มทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน

“แสดงว่าแม้ระยะเวลาจะห่างกันมากกว่า 10 ปี แต่แลนด์บริดจ์ยังน่าสนใจ ผมอยากให้มีนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนหลายราย เพราะจะทำให้เกิดความคึกคักกับเศรษฐกิจไทยและสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่าโครงการนี้สำเร็จแน่นอน”

ร่วมศึกษาแลนด์บริดจ์ตั้งแต่ปี 2551

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า Dubai World เคยมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ มีการลงนามระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ Dubai World เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 ซึ่งอยู่ช่วงนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ต่อมาถูกยุบพรรค และกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย โดยการลงนามครั้งนี้สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ดูไบ เวิลด์ มาลงนามด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ดูไบเวิลด์สนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง บนชายฝั่งทะเลอันดามันและบนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย วงเงิน 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลขณะนั้นมีเป้าหมายใช้แนวเส้นทางสะพานเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งให้สิทธิการยกเว้นภาษีแก่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงพัฒนาบริการขนส่งบนแนวเส้นทางสะพานเศรษฐกิจ คือ การขนส่งทาง ถนนทางรถไฟและทางท่อ สำหรับ Dubai World ตั้งโดยรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเป็นองค์กรของรัฐในการลงทุนธุรกิจ

“ดูไบเวิล์ด”ประสาน สนข.ขอข้อมูล

นายปัญญา ชูพานิชผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า Dubai World เชี่ยวชาญโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ และการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาช่วย สนข.เริ่มศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ Dubai World แนะนำให้พัฒนาท่าเรือพื้นที่อำเภอท่านุ่น จังหวัดพังงา ซึ่งคนละพื้นที่กับแผนพัฒนาที่ สนข.ศึกษาในปัจจุบัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางเรือ

“Dubai World เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาช่วยไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทจากจีนและอีกหลายแห่งที่มาช่วยศึกษา Dubai World จึงถือเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่เข้าใจและรู้เรื่องแลนด์บริดจ์เป็นอย่างดี”

นายปัญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ Dubai Port World ได้ติดต่อมายัง สนข.เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดผลการศึกษาแลนด์บริดจ์ที่ได้ทบทวนใหม่ ซึ่งครั้งนี้จะพัฒนาในพื้นที่ชุมพร – ระนอง โดย Dubai Port World ก็แสดงความสนใจในโครงการนี้ สอบถามข้อมูล และสนใจที่จะร่วมลงทุน ซึ่ง สนข.ก็มีแผนเตรียมโรดโชว์ไปยังดูไบ เพื่อโปรโมทโครงการและเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในปีนี้ด้วย