"พิมพ์ภัทรา" ดึงซาอุฯ ลงทุนโปแตช ต่อยอดอุตสาหกรรมปุ๋ย

"พิมพ์ภัทรา" ดึงซาอุฯ ลงทุนโปแตช ต่อยอดอุตสาหกรรมปุ๋ย

“พิมพ์ภัทรา” ถกรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณี ซาอุดีอาระเบีย หวังเชื่อมโยงลงทุนสร้างความมั่นคงแร่โพแทส ระบุเดือนก.พ.ซาอุฯ เตรียมพานักลงทุนมาไทยอีกครั้ง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในงาน Future Minerals Forum 2024 ณ กรุงริยาด ระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค.2567 ว่า ได้หารือกับนายบันดาร์ อัลกอราเยฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณี และนายคาร์ลิล บินซามัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณี ซาอุดีอาระเบีย เพื่อชักชวนให้ซาอุดีอาระเบียมาลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชของไทย เพื่อสร้างความร่วมมือกันเรื่องปุ๋ย 

"ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยยูเรีย (N) และฟอสฟอรัส (P) ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งแร่โพแทช (K) ที่สำคัญแหล่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย หากร่วมมือกันจะต่อภาพอุตสาหกรรมปุ๋ยได้ครบถ้วน ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารและยาเวชภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงในด้านนี้ร่วมกันได้เช่นกัน"

โดยภายหลังการหารือร่วมกัน ฝ่านซาอุฯ ยืนยันว่าพร้อมจะขยายความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในทุกมิติที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยังมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารและยาเวชภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงในด้านนี้ร่วมกันได้ พร้อมทั้งรับจะนำเรื่องโพแทชที่ได้รับในการหารือไปเชิญชวนภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียที่สนใจ เช่น MA’ADEN Manara Minerals เข้ามาร่วมลงทุน 

นอกจากนี้ เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงริยาด มีแผนงานในการพานักธุรกิจและผู้ประกอบการของซาอุดีอาระเบียไปศึกษาดูงานในกลุ่มธุรกิจที่สนใจในประเทศไทยในช่วงเดือนก.พ.2567 ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุนระหว่างกัน

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่ฝ่ายไทยหยิบยกมาหารือ ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการลงทุนเกี่ยวกับแร่โพแทชและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ย 

โดยประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ มีปริมาณสำรองจำนวนมาก ปัจจุบันได้มีการอนุญาตประทานบัตรให้ทำเหมืองไปแล้วจำนวน 3 ราย คาดการณ์ว่าจะเริ่มผลิตได้ในอีก 3-4 ปี มีกำลังการผลิตโพแทชประมาณรวมกว่า 3 ล้านตันต่อปี ตลอดอายุโครงการจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้มากถึง 100 ล้านตัน 

ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตหลักของปุ๋ยยูเรีย (N) และฟอสเฟต (P) จึงมีความเป็นไปได้ในความร่วมมือเพื่อการลงทุนผลิตปุ๋ยร่วมกัน นอกจากนี้ ไทยพร้อมต่อยอดความร่วมมือทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแร่ในสิ่งที่ริเริ่มในเวที Future Minerals Forum (FMF2024) ในการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์แร่ที่สำคัญในพหุภูมิภาคสร้างศูนย์กลางโลหะสีเขียวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศในพหุภูมิภาค โดยไทยพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือดังกล่าว