ฟื้นชีพเหมืองแร่ 'โปแตช' 6 พรรคพร้อมหนุนหลังเป็นรัฐบาล

ฟื้นชีพเหมืองแร่ 'โปแตช' 6 พรรคพร้อมหนุนหลังเป็นรัฐบาล

ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 4 ล้านตัน มูลค่า 6 หมื่นล้าน เป็นปุ๋ยโพแทชเซียมประมาณ7 แสนตัน คิดเป็น 9 พันล้านต่อปี ขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตโพแทสเซียมสูงมาก คาดว่าไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุสและเยอรมนี 

สำหรับพื้นที่พบแร่โปแตชขนาดใหญ่ในไทยมี 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม และแอ่งโคราช ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และจ.ชัยภูมิ

ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ไทยคาลิจำกัด จ.นครราชสีมา และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ

รวมทั้งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี  ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) โดยเป็นบริษัทในเครือของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี ซึ่งเข้าไปซื้อกิจการบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่นจำกัด เมื่อปี 2549
ฐานเศรษฐกิจ” จัดงานสัมมนา THE BIG ISSUE ปุ๋ยแพง : วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ได้มีการนำเสนอความเห็นของพรรคการเมือง 6 พรรค ที่ต้องการให้มีการผลักดันเหมืองแร่โปแตช

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล กล่าวว่า  เหมืองแร่โปแตช น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะมีคุณค่าสำหรับประเทศแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน พรรคมองว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปทำให้ทุกอย่างมีความโปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาเหมืองโปแตช อยากให้เร่งทำเหมืองที่ได้สัมปทานไปก่อน สิ่งที่ล่าช้าเพราะที่ผ่านมาไม่ลงทุนเพราะราคาโปแตชต่ำ แต่วันนี้ราคาสูง การลงทุนจากรัฐถือหุ้น 20% ก็ยังไม่ลงทุน ไม่ทราบว่าจะดึงเพื่อประโยชน์อะไร ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่ก็ทำไปก่อนเพื่อให้เห็น เพราะวันนี้เทคโนโลยีมาแล้ว และหากรัฐบาลทำไม่ได้ก็ให้เอกชนทำภายใต้เงือนไขลดราคาปุ๋ยโปแตชให้เกษตรกรไทย 20-25%
ยอมรับว่า ปัญหาของเกษตรกรไทย หลัก ๆ มาจากภาวะผันผวนของปัจจัยการผลิต เช่น ราคาปุ๋ย และ ราคาพืชผลทางเกษตร ซึ่งยากต่อการควบคุม จนนำมาซึ่งนโยบายประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง และ ค่าบริหารจัดการ ที่พรรคใช้ดูแลพี่น้องเกษตรกรมายาวนาน ซึ่งจะยกระดับให้มากยิ่งขึ้น หากได้รับโอกาสได้เข้าไปเป็นรัฐบาล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ปัญหาปุ๋ยแพงเป็นเรื่องใหญ่ และยาวนาน แต่ครั้งนี้ถือว่ารุนแรง เพราะเกิดสงครามการเมืองต่างประเทศและมีปัญหาโควิด โดยการแก้ไขส่วนหนึ่งต้องผลักดันเหมืองโปรแตส ถือเป็นนวนิยาย หากพรรคเป็นรัฐบาลจะเข้าไปผลักดัน ไม่ใช่ปล่อยให้คาราคาซังอย่างนี้ เอกชนผู้ประกอบการ ทำเพียงลำพัง พิสูจน์แล้วว่าว่าแก้ปัญหาได้ยาก หากรัฐเข้าไปช่วยและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้เป็นนโยบายของประเทศ มีปุ๋ยในประเทศเอง เพราะมีถึง 7-8 แสนตัน จะช่วยให้ราคาลดลง 20-30% ถ้าทำดี ก็ส่งออกได้

นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคและกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สำหรับเรื่องของการผลิตปุ๋ยผ่านเหมืองโปรแตช เป็นประโยชน์และถึงมือเกษตรกร บนเงื่อนไขที่ว่าไม่ต้องการให้มีการเปิดเหมืองโปรแตสใหม่ เพราะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านดินเค็มที่มีการขยายตัวในภาคอีสาน นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่า การนำโปแตชมาทำแบตเตอรี่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะขณะนี้โปแตชจำนวน 7 แสนตัน ถือว่าเพียงพอแล้วกับการใช้ในปัจจุบัน ที่เหลือก็เก็บไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต
นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ คณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การผลิตปุ๋ยต้นน้ำ คือ การทำเหมืองโปแตชนั้นยังคงต้องมี ซึ่งทางพรรคสนับสนุนโดยให้มีอุตสาหกรรมการผลิตแม่ปุ๋ยในไทยบนหลักการณ์ต้องเกิดและแบ่งปันประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันต้องจัดโซนนิ่งที่มีการทำเหมืองโปแตชอย่างชัดเจน โดยย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ โดยให้เงื่อนไขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมเพราะรัฐมีที่หลวงอยู่ทุกอำเภอ ทั้งนี้ ปุ๋ยโปแตชที่ผลิตภายในประเทศต้องมีราคาถูกกว่าปุ๋ยนำเข้า 20%
นายจุติ ไกรฤกษ์ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ปุ๋ยแพงเป็นปัญหาเร่งด่วน แต่ไม่ใช่ปัญหาเดียวของเกษตรกร การทำไร่ นาไม่ใช่แค่ปุ๋ยที่เป็นต้นทุน มีทั้งค่าแรง และที่ทำกิน ฯลฯ ในขณะนี้ชาวนา ชาวไร่ มีปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือโดยปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน แก้กฎหมายแพ่งพาณิชย์ไม่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยแพงเกินตามกฎหมายกำหนด และตัดดอกเบี้ยที่ชำระจากเงินต้นจะทำให้หนี้เกษตรกรได้รับการดูแลที่ดีขึ้น รวมถึงเงินทุนช่วยเหลือ เป็นต้น
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาคือ ผลิตปุ๋ยเพื่อใช้เอง จากโรงงานเหมืองโปรแตช แม้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องให้ผู้ผลิตดำเนินการเอง เพราะรัฐบาลคงไม่ดำเนินการ จากการจัดตั้งปุ๋ยแห่งชาติ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เต็มที่ โครงการนี้จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ประเทศ อีกประเด็นคือราคาข้าว ที่พรรคไหนจะประกันหรือจำนำ ก็จะทำให้ผู้บริโภคก็จะมีผลกระทบ และวันนี้ปัจจัยการแข่งขันระหว่างประเทศ ข้าวเราสู้ประเทศอื่นไม่ได้แม้เราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก และสิ่งที่จะทำคือ เพิ่มทุนให้ภาคการเกษตรให้ได้ 30% ของ GDP ประเทศ