เหมืองโปแตช ทำไมประเทศไทยต้องมี

เหมืองโปแตช ทำไมประเทศไทยต้องมี

“โครงการเหมืองแร่โปแตช” เป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำลังเร่งรัดให้ประสบความสำเร็จ เพื่อลดการนำเข้าปุ๋ยโปแตชจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยมีสำรองแร่โปแตชเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านจากประชาชนในแง่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

พลันที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัด “โครงการเหมืองแร่โปแตช” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการมีความล่าช้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ก็เกิดการเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะราคาหุ้น บมจ. ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) พุ่งแรง แตะ 0.45 บาท ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับสูงสุดของวันที่ 0.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท หรือ 12.20% ซึ่งขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ซึ่ง 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 180.59 ล้านบาท และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) ที่ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช เนื้อที่ 9,707 ไร่ กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแล้ว

ว่ากันว่าประเทศไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี ตามลำดับ โดยพื้นที่ที่สามารถพบแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ได้ใน 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนครประกอบด้วย สกลนคร หนองคาย อุดรธานี และนครพนม และแอ่งโคราช ประกอบด้วยขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ และมีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชจำนวน 3 ราย ซึ่งได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิเนื้อที่ 9,707 ไร่ กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี บริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่จ.อุดรธานี เนื้อที่ 26,446 ไร่ กำลังผลิต 2 ล้านตันต่อปี และบริษัทไทยคาลิจำกัด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 9,005 ไร่กำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี

ทว่ายังไม่สามารถที่จะเปิดพื้นที่ทำเหมืองได้ โดยหนึ่งในผู้ที่ได้สัมปทานไปนั้น ถือสิทธิอยู่นานถึง 8 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะขุดแร่ขึ้นมาได้ ส่วนอีก 2 บริษัทที่ได้สัมปทานนั้นมีการรายงานว่าบริษัทหนึ่งติดปัญหาเรื่องเงินทุนในการดำเนินกิจการ ส่วนอีกรายนั้นติดปัญหาเรื่องของเงินทุนเช่นกันการส่งสัญญาณผลักดัน “เหมืองโปแตช” ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ต้องดูว่าผู้ได้ประธานบัตรจะสามารถเปิดพื้นที่ทำเหมืองได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็เป็นโอกาสของ “ผู้เล่นรายใหม่” ที่มีความพร้อมได้เช่นกัน 

เรามองว่ารัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบ ระหว่างการผลักดันอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตช เพื่อลดการนำเข้าปุ๋ยโปแตชจากต่างประเทศ ทำให้ราคาปุ๋ยโปแตชในประเทศถูกลง ลดต้นทุนในการทำการเกษตรของเกษตรกรได้ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และจะมีการสร้างอาชีพใหม่ที่ต่อเนื่อง ขณะที่อีกด้านมองว่าอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนโครงการ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านน้ำเค็มและน้ำเสียที่เกิดจากการทำเหมืองแร่โปแตช และจะส่งผลกระทบต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักและเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมไปถึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ เช่น อาจเสี่ยงให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ ได้ง่ายด้วย