เปิดขุมทรัพย์พลังงาน ‘ล้านล้าน’ รัฐบาลไม่แตะปมเขตแดนทางทะเล ไทย-กัมพูชา

เปิดขุมทรัพย์พลังงาน ‘ล้านล้าน’ รัฐบาลไม่แตะปมเขตแดนทางทะเล ไทย-กัมพูชา

“เศรษฐา-ฮุน มาเนต” นัดหารือทวิภาคี 7 ก.พ.นี้ เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 1.6 หมื่น ตร.กม. “พลังงาน” พร้อมเสนอข้อมูล เปิดขุมทรัพย์ปิโตรเลียมล้านล้าน หาข้อสรุปรูปแบบองค์กรพัฒนาร่วม JDA การแบ่งปันผลประโยชน์ “ที่ปรึกษานายกฯ” ยันไม่แตะพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศา

พื้นที่ไหล่ทวีปไทย-กัมพูชาที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร เป็นปัญหาที่ขัดแย้งมากว่า 45 ปี หลังจากที่ไทยตั้งคณะกรรมการเจรจาสิทธิและขอบไหล่ทวีปเมื่อปี 2512 และกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อปี 2515 โดยที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีความพยายามที่จะเจรจาเพื่อหาข้อสรุปและนำไปสู่พื้นที่ร่วมพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA)

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเจรจากับกัมพูชาอีกครั้งแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ในขณะที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาถึงการเจรจาเพื่อหาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

ล่าสุดนายเศรษฐา ได้ชี้แจงถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2567

นายกรัฐมนตรี ระบุถึงการที่นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางเยือนไทยวันที่ 7 ก.พ.2567 โดยหนึ่งในวาระที่จะเจรจา 2 ฝ่าย จะมีประเด็นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่าหลายล้านล้านบาท ซึ่งควรหาข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ที่จะมีค่าใช้จ่ายพลังงานงานที่ลดลง และยืนยันว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ไม่เจรจาพื้นที่แบ่งเขตแดนทางทะเล

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เจรจาระดับหนึ่งและเรื่องอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมีแนวทางแล้วและถ้ามีการปรับเปลี่ยนคงไม่มาก

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของการหารือจะไม่แตะการแบ่งเขต (พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้น 11 องศาเหนือขึ้นไป) ที่จะเจรจาไม่จบ แต่จะเน้นการเจรจาเพื่อนำทรัพยากรในทะเลมาแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งควรเจรจาให้ได้ข้อยุติเร็วเพราะการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ต้องใช้เวลา 2-7 ปี โดยเมื่อเจรจาสำเร็จจะเข้าสู่ขั้นตอนการขุดเจาะและเดินท่อก๊าซ

เปิดขุมทรัพย์พลังงาน ‘ล้านล้าน’ รัฐบาลไม่แตะปมเขตแดนทางทะเล ไทย-กัมพูชา

รวมทั้งไทยมีความพร้อมทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ต้องแยกสัดส่วนการใช้งาน ซึ่งไทยมีท่อก๊าซเดินไว้แล้วและจะเพิ่มมูลค่าได้ 6-20 เท่า ดังนั้น เชื่อว่าจะเจรจาได้ข้อสรุปภายในรัฐบาลชุดปัจุบัน โดยกัมพูชาต้องการเจรจาให้สำเร็จเช่นกันเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

“ถ้าเจรจาสำเร็จจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 2 บาทเศษ ซึ่งทรัพยากรบนพื้นที่ทับซ้อนอย่างต่ำมีถึง 10 ล้านล้านบาท จะต้องทยอยนำขึ้นมา”

นอกจากนี้ ยังเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยหากขุดเจาะสำเร็จจะมีเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งก๊าซที่มีศักยภาพในอ่าวไทย เช่น แหล่งเอราวัณ

ทั้งนี้ หากไทยไม่สามารถเจรจาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวได้อาจต้องเลิกผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โดยอาจต้องหันไปพึ่งเทคโนโลยีใหม่ เช่น โซลาร์เซลล์ที่มีต้นทุนเหลือ 2 บาท แต่ยังมีปัญหาเสถียรภาพของพลังงานได้ไม่สามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงต้องมีแบตเตอรี่ใช้กักเก็บพลังงานที่ในอนาคตจะมีราคาถูกลง

8เหตุผลไทยควรเจรจาพื้นทีทับซ้อน

สำหรับเหตุผลที่ไทยควรเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน 8 ข้อ ดังนี้

1.ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีปริมาณมาก ซึ่งจะมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มา 30 ปี คาดกันว่ามีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ จะเจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงานและไม่เจรจาแบ่งดินแดนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้

2.ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมาลดลงมาก อีกทั้งเมียนมามีความขัดแย้งในประเทศและมีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซ จึงมีโอกาสให้ปริมาณก๊าซจากเมียนมาลดลง รวมทั้งราคาก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมาถูกกว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้ามาก

3.ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ไทยผลิตไฟฟ้าในราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศโดยต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซในอ่าวไทยอยู่หน่วยละ 2-3 บาท ต่ำกว่าราคาไฟฟ้าปัจจุบันที่หน่วยละ 4.70 บาท

4.ในอนาคตการใข้พลังงานจากฟอสซิลทั้งก๊าซ น้ำมันและถ่านหินจะลดลงมากเนื่องจากปัญหาโลกร้อน อีกทั้งคนจะใข้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และ พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวกันมากขึ้น

5.ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่นำเข้าโรงแยกก๊าซและใช้ในธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซ 6 แห่ง อีกทั้งมีอุตสาหกรรมปิโตรเคขนาดใหญ่รองรับ ซึ่งการนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า

6.รัฐได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทยและกัมพูชา โดยในอดีตรัฐเคยเก็บค่าภาคหลวงได้ถึงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท และยังไม่นับธุรกิจต่อเนื่องทั้งธุรกิจขายก๊าซ ธุรกิจปิโตรเคมี โรงงานพลาสติก ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและจ่ายภาษีให้รัฐ

7.ค่าภาคหลวงที่จะได้รับมีโอกาสได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม เพราะบริเวณดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณมากอย่างแน่นอน ทำให้สามารถปรับค่าภาคหลวงให้มากกว่าเดิมได้ ซึ่งจะทำให้รัฐได้เงินมากขึ้น

8.การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี ดังนั้นจึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

“เศรษฐา”เดินหน้าเจรจาเต็มที่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เตรียมแผนงานที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว โดยดูท่าทีของรัฐบาลปัจจุบันมองว่าในการหารือกับนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ซึ่งจะมีความคืบหน้าระดับหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยการเจรจาหนักจะเป็นบทบาทของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะทำหน้าที่ใช้ข้อมูลสนับสนุนเต็มที่

“การเจรจาถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติของแต่ละประเทศ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องทั้งข้อกฏหมาย ซึ่งหน้าที่ของกระทรวงพลังงานจึงจะต้องเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอแนะ ส่วนการเจรจาอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกหยิบยกเรื่องไหนมา หรือทางกัมพูชาอาจจะมีข้อเสนอมาเช่นกัน จึงต้องอยู่ที่การตกรงระหว่างกัน เพราะเกี่ยวข้องถึงประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ผ่ายเพื่อนำทรัพยากรณ์ที่มีมูลค่ามหาศาลมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งประชาชนคนไทยก็จะได้มีแหล่งพลังงานที่ราคาถูกเพิ่ม” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับข้อมูลที่เป็นไปได้มากที่สุดที่กระทรวงพลังงานอาจยกขึ้นมา คือ การบริหารจัดการในรูปแบบพื้นที่ร่วมพัฒนา JDA เพื่อผลิตปิโตรเลียมแบบไม่ยุ่งกับเส้นแบ่งเขตแดน ซึ่งมีความร่วมมือที่ดีกับกระทรวงการต่างประเทศจึงคาดว่าจะได้ข้อยยุติร่วมกัน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การหาข้อยุติปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่าง หรือ Overlapping Claims Area (OCA) ซึ่งอาจต้องปรับแนวทางการเจรจาและแนวทางการดำเนินทำงานใหม่ โดยเน้นการใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานที่ไม่เกี่ยวกับการแบ่งเขตแดน

เสนอตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารปิโตรฯ

นอกจากนี้ อาจเสนอรูปแบบการตั้งองค์กรหรือบริษัทร่วมที่ไทยและกัมพูชามีหุ้นส่วน และได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล 2 ประเทศ  เพราะการนำข้อเจรจาแบ่งเขตแดนไปผูกกับการใช้ประโยชน์พลังงานจะไม่มีทางสำเร็จ เนื่องจากอ้างอิงกฎหมายที่เกิดขึ้นต่างวาระและเวลา

“หากไทยกับกัมพูชาร่วมกันตั้งบริษัทหรือองค์กรใดขึ้นมาถือหุ้นร่วมกันแล้วไปคุยกับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบองค์กรที่ตั้งขึ้นมาย่อมเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวกับเขตแดน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

รวมทั้งที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำงานร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมข้อมูลให้รัฐบาลดำเนินการในเชิงนโยบาย โดยกำหนดวัตถุประสงค์การเจรจา 3 ประเด็น ได้แก่

1.การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนที่มีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร

2.การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ

3.การเจรจาใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ตามที่ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว

หนุนเจรจาให้2ประเทศได้ข้อยุติ

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลเดินหน้าเจรจาในเรื่องดังกล่าว แต่การเจรจาก็จะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนกว่าจะบรรลุข้อตกลง และเป็นงานที่ต้องทำงานร่วมกันหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นไปตามกฏหมายรัฐธรรมนูญในการตกลงและจะต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภา

“ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว หากสามารถเจรจาตกลงได้ จะทำให้มีโอกาสเข้าสำรวจ และมีโอกาสเจอและสามารถเพิ่มปริมาณสำรองพลังงานของประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมีขั้นตอนและอาจต้องใช้เวลา”