'พลังงาน' จ่อถก 'กัมพูชา' ตั้งบริษัทร่วม ไม่แตะเส้นเขตแดน 

'พลังงาน' จ่อถก 'กัมพูชา' ตั้งบริษัทร่วม ไม่แตะเส้นเขตแดน 

"พีระพันธุ์" พร้อมผนึก ก.ต่างประเทศ เร่งเจรจา "กัมพูชา" งัดประโยชน์ประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ยกตัวอย่างตั้งบริษัทร่วม ในรูปแบบ JDA ดึงทรัพยากรใต้ดินมาใช้ร่วมกัน ไม่แตะเส้นเขตแดน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอีกภารกิจสำคัญ คือ การเดินหน้าเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA ถือเป็นประเด็นที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ยอมรับว่า เมื่อไหร่ที่มีการเอาเรื่องของเส้นเขตแดนมาคุย ก็จะไม่มีทางเจรจากันจบ เพราะไม่มีประเทศไหนเอาเรื่องนี้มาคุย ถือเป็นการอ้างอิง และเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นคนละวาระและเวลา 

ดังนั้น จึงไม่สามารถบอกว่าใครถูก ใครผิด เพราะเรื่องของเขตแดนที่อยู่ใต้ดินไม่มีใครถูกใครผิด ดังนั้น การเจรจาต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งหากยึดเอาผู้ที่ได้ประโยชน์ คือประชาชน ก็ควรเจรจา และการเจรจาก็ไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องของเขตแดนแต่ควรคุยแต่เรื่องทรัพยากรใต้ดิน 

"ในส่วนของประเทศไทย จึงต้องมีกระทรวงการต่างประเทศมาเกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ควรคุยกันถึงเรื่องของการใช้พลังงาน ดังนั้น หากเปรียบเส้นเขตแดนจะเปรียบเสมือนโฉนดที่ดิน เช่นข้างบ้านบอกขอข้ามเข้ามา 1 เมตร ในพื้นที่บ้านเรา เราก็ไม่โอเค ทุกวันนี้ไม่มีใครเจรจา เพราะสุดท้ายแม้เจรจาจบก็ต้องนำเรื่องเข้าสภาฯ ซึ่งเชื่อว่าสภาฯ ของทั้ง 2 ประเทศ ก็ไม่มีใครให้ผ่าน ตราบใดที่เอาเรื่องเขตแดนมาคุยก็ไม่จบแน่นอน" 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บุคคลที่เป็นประธานในการเจรจาคือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็จะต้องมาดูว่าต่อจากนี้ใครจะทำ ซึ่งต้องมีทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายกฎหมาย ร่วมตั้งทีมขึ้นมาใหม่  
 

"ยกตัวอย่างว่าไทย และ กัมพูชา ร่วมตั้งบริษัทร่วมกัน และอยากมาได้สิทธิทำธุรกิจ แล้วขออนุญาติในฝ่ายไทย เราโอเค เพราะถือว่าเป็นบริษัทไทยด้วยก็เข้ามาได้ เมื่อได้ก็ทำได้ทั้งคู่ ถือเป็นการยกตัวอย่าง ซึ่งตอนนี้ ตนไม่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโดยตรง"

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ได้หารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เสนอมาและมีแนวโน้มความเป็นไปได้ คือ การบริหารจัดการในรูปแบบร่วมลงทุนพื้นที่ทับซ้อนแบบ JDA ให้มีการผลิตปิโตรเลียมออกมาโดยจะไม่ยุ่งกับเส้นแบ่งเขตแดน ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่ารัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถือว่ามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ท่านได้เดินทางไปพบ ซึ่งก็มีความหวังว่าจะสามารถตกลงกันได้ ดังนั้น เรื่องของเส้นเขตแดนตามความเห็นส่วนตัวมองว่าทะเลาะกันไปก็ไม่จบ จึงคิดว่าควรจะค้างเอาไว้ และเจรจาตรงไหนก่อนได้ก็ทำก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ เพราะเมื่อตกลงกันเสร็จ กว่าจะผลิตได้จริงก็จะใช้เวลาหลายปี 

รายงาานข่าว ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ได้เดินทางเยือนกัมพูชาเพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่งใหม่รวมทั้งการกระชับสัมพันธ์และความร่วมมือทุกด้านไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงการต่อยอดการพัฒนาร่วมกัน แม้ในวาระการหารือไม่ได้กำหนดประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไว้ชัดเจน แต่เชื่อว่าทั้งไทยและกัมพูชาน่าจะมีการยกประเด็นขึ้นมาหารือ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ทำงานร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดเตรียมข้อมูลให้รัฐบาลดำเนินการในเชิงนโยบาย โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาไว้ 3 ประเด็น ได้แก่

1. การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร

2. การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนเมื่อปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ

3. ในการดำเนินการเจรจาให้ใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ตามที่ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว

สำหรับการเจรจาจะขึ้นอยู่กับทีมเจรจา ซึ่งต้องจับตาว่ารัฐบาลจะให้ใครเป็นหัวหน้าทีมเจรจา ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ ตามที่เคยมีการเสนอ ดังนี้

1. ใช้วิธีแบ่งเขตแดนกันแบบพื้นที่ทับซ้อนไทย-เวียดนาม เมื่อปี 2540 โดยใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า 

2. ร่วมลงทุนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแบบไทย-มาเลเซีย รูปแบบเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี และ 

3. ผสมผสานระหว่างรูปแบบที่ 1 กับ 2