'พืชสวนโลก' อุดรธานี ปี 69 ส่อล่ม Master Plan ไม่จบงบบานเท่าตัว

'พืชสวนโลก' อุดรธานี ปี 69 ส่อล่ม Master Plan ไม่จบงบบานเท่าตัว

งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี มีแววว่าจะล่มเสียแล้ว แม้ว่าจะเหลือระยะเวลากว่า 3 ปี กว่างานจะเริ่ม แต่ขั้นตอนการจัดงานแต่ละช่วงต้องใช้เวลาในการเตรียมงาน ปัจจุบันจึงต้องมีผังการจัดงานที่ชัดจน แต่จนบัดนี้การทำงานของจังหวัดยังเท่ากับศูนย์

“มหกรรมพืชสวนโลก” มีหลักเกณฑ์ว่า  65 ประเทศ จะเวียนกันจัดงานตามลำดับชั้น คือ A1 , B ,Cและ D ซึ่งไทยจะมีโอกาสอีก 2 ครั้งในปี 2569 ที่จ.อุดรธานี และ ปี 2572 ที่จ.นครราชสีมา

นับเป็นจังหวะที่ไทยจะฉวยจัดอีเวนท์ใหญ่เพื่อโกยนักท่องเที่ยวช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและหลายภูมิภาคมีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่โอกาสนี้อาจหลุดลอยไป เมื่อความคืบหน้าล่าสุดการจัดการพบว่า ผังแม่บท (Master Plan) ยังไม่แล้วเสร็จ

 

\'พืชสวนโลก\' อุดรธานี ปี 69 ส่อล่ม Master Plan ไม่จบงบบานเท่าตัว

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2569 วงเงิน 2,500 ล้านบาท ที่ดำเนินการโดยจังหวัดอุดรธานี ระดับ B มีความล่าช้ามาก ปัจจุบันทางจังหวัดอุดรฯยังไม่สามารถ จัดทำผังแม่บททางกายภาพ (Master Plan) ได้แล้วเสร็จ ซึ่งเลยกำหนดที่ระบุไว้ไม่เกินวันที่ 20 ธ.ค. 2566 และคาดว่าการดำเนินการจะไม่ทันต่อแผนที่กำหนดให้เริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2569 – 14 มี.ค. 2570

โดยจากการประชุม เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ทางจังหวัดอุดรธานี แจ้งให้ทราบว่าอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับ ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อย่างไรก็ตามต้องเร่งรัด Master Plan ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ภายในเดือน ม.ค. 2567 เป็นอย่างช้า เพื่อให้งานส่วนอื่นๆสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกต้นไม้ทั้งของไทยที่เป็นเจ้าภาพ ประเทศอื่นๆที่เข้าร่วมการจัดงาน จะต้องใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโต การขุดสระน้ำ การพักดิน เป็นต้น

 

\'พืชสวนโลก\' อุดรธานี ปี 69 ส่อล่ม Master Plan ไม่จบงบบานเท่าตัว

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร เสนอให้ปรับแผนแม่บทโดย ให้กระชับตัวอาคาร ให้มีระยะห่างกันเพียง 1 กิโลเมตร เพื่อให้ผู้เข้าชมงานสามารถเดินวนไป-กลับได้ 2 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่เหมาะสม ไม่เหนื่อยเกินไป เพราะสภาพอากาศของไทยเป็นเมืองร้อน จากเดิมที่ร่าง Master Plan ของทางจังหวัดกำหนดให้มีอาคารกระจาย ห่างกัน 2 กิโลเมตร การเดินวนเข้าชมจะมีระยะทาง 4 กิโลเมตร ซึ่งผู้เข้าชมอาจเหนื่อยและร้อนได้

“ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอไปนั้น ยังใช้พื้นที่การจัดงานเท่าเดิม องค์ประกอบเท่าเดิม แต่การกระชับตัวอาคาร ให้มีระยะห่างแคบลงนั้น ปรับฮวงจุ้ยให้มีประสิทธิภาพ จะทำให้งบประมาณอยู่ในกรอบ 2,500 ล้านบาท ตามที่ครม.อนุมัติ" 

ในขณะที่ร่าง Master Plan นั้นจะต้องเพิ่มงบประมาณ อีกเท่าตัว ตามที่นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบในการประชุมสัญจรจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2566

ระพีภัทร์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้ส่งให้ทางจังหวัดอุดรธานีรับทราบแล้ว ก็หวังว่าคณะทำงานกลั่นกรองการออกMaster plan ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน จะให้ความเห็นชอบและกำหนด Master Plan ออกมาให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ การล่าช้าและจัดงานไม่ทัน ต้องเลื่อนหรือต้องยกเลิกไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อการจัดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก” จ.นครราชสีมาในปี 2572 หรือปี 2029 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพระดับ A1

นอกจากนี้ทาง สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) อาจเรียกค่าปรับซึ่งยังไม่ทราบอัตราที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันการจัดงานของจังหวัดอุดรธานี เบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 50 ล้านบาท

“งานมหกรรมพืชสวนโลกจะใช้เวลา 3 เดือน จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจใน จ.อุดรธานีให้คึกคักแน่อน จะเห็นได้จากช่วงที่มีครม.สัญจร นั้นที่พักโรงแรมเต็มทุกแห่ง เป็นงานที่จ.อุดรธานีจะสามารถโชว์ศักยภาพด้านต่างๆได้เต็มที่ สถานที่จัดงานยังใช้เป็น อีก 1 แลนด์มาร์คของจังหวัด หลังจากงานมหกรรมพืชสวนโลกจบแล้วด้วย"

สำหรับมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ.2569 โดย จังหวัดอุดรธานี วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ หรือ UDON THANI International Horticultural Expo 2026 Diversity of Life: People, Water, and Plants รูปแบบงานประเภท B ตามข้อกำหนดของ AIPH ใช้พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง รวม 1,030 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นน้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่ ระยะเวลาการจัดงาน 134 วัน 1 พ.ย. 2569 – 14 มี.ค. 2570

คาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นชาวไทย 70% และชาวต่างประเทศ 30% จำนวนประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ จะทำให้เกิดรายได้สะพัด 32,000 ล้านบาท มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า (GDP) 20,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 81,000 อัตรา รายได้จากการจัดเก็บภาษี 7,700 ล้านบาท

งานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ ชื่อเสียงและการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ สะท้อนผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นและโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น และอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย