'คมนาคม' ลุยกองทุนตั๋วร่วม ชงขึ้นราคาน้ำมันเขตกรุงเทพฯ ชดเชยรายได้รถไฟฟ้า

'คมนาคม' ลุยกองทุนตั๋วร่วม ชงขึ้นราคาน้ำมันเขตกรุงเทพฯ ชดเชยรายได้รถไฟฟ้า

“คมนาคม” ดันตั้งกองทุนตั๋วร่วมต้นปีหน้า หนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางเกิดภายใน 2 ปี พร้อมเร่งศึกษาโมเดลหางบ 7 – 8 พันล้านบาทจ่ายชดเชยเอกชน เล็งขอเงินสนับสนุนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และปรับขึ้นราคาน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯ 50 สตางค์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยระบุว่า ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ใน 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล

ส่วนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ นั้น ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกสายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดัน พรบ.ตั๋วร่วม และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

อย่างไรก็ดี การผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าที่มีสัญญาสัมปทานร่วมกับเอกชน นอกจากต้องใช้ พรบ.ตั๋วร่วมเพื่อขับเคลื่อนแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องชดเชยส่วนต่างที่หายไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทาน ดังนั้นกระทรวงฯ จึงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางที่จะนำเงินไปจ่ายชดเชยเอกชน โดยเบื้องต้นจะจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมที่นำเงินมาจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล

รวมไปถึงการระบุใน พรบ.ตั๋วร่วม เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น อาทิ ในอัตรา 50 สตางค์ เฉพาะสถานีน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำเงินสนับสนุนเข้ากองทุน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น แต่สามารถจูงใจประชาชนให้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่จะปรับราคาลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนปรับลดลง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นกระทรวงฯ ประเมินวงเงินที่ใช้หมุนเวียนในกองทุนตั๋วร่วมเพื่อชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 7 – 8 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งมั่นใจว่าแนวทางที่อยู่ระหว่างศึกษาขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นโมเดลที่หลายประเทศใช้กัน อีกทั้งจากการตรวจสอบพบว่าการนำเงินจากกองทุนดังกล่าวมาสนับสนุนไม่ขัดต่อหลักการของการจัดตั้งกองทุน เนื่องจากบริการรถไฟฟ้านับเป็นบริการที่เข้าข่ายอนุรักษ์พลังงาน