ดาวรุ่งดวงใหม่เสริมทัพส่งออกไทยให้โตแกร่ง

ดาวรุ่งดวงใหม่เสริมทัพส่งออกไทยให้โตแกร่ง

ช่วงเวลาปลายปีแบบนี้ผู้ส่งออกหลายท่านคงเริ่มเตรียมแผนธุรกิจปีหน้ากันแล้ว ซึ่งบางท่านอาจรู้สึกหนักใจเนื่องจากเศรษฐกิจโลกปีหน้าดูไม่สดใสนัก

โดยล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ลงจากเดิมที่คาดไว้ 3.0% เหลือ 2.9% อีกทั้งเศรษฐกิจของหลายตลาดส่งออกสำคัญก็มีแนวโน้มชะลอลงจากปีนี้ อย่างสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.5% จาก 2.1% ในปี 2566 และญี่ปุ่นที่จะขยายตัว 1.0% จาก 2.0%

อย่างไรก็ดี ผมมองว่านี่เป็นโอกาสดีในการเริ่มสแกนหาตลาดดาวรุ่งดวงใหม่ๆ มาเสริมทัพการส่งออกของไทย ซึ่งผมขอนำตลาดที่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงกันนัก แต่มีความน่าสนใจจากหลาย ๆ ภูมิภาคมาให้ทำความรู้จัก ประกอบด้วยโรมาเนีย (Romania) จากยุโรป คูเวต (Kuwait) จากตะวันออกกลาง และคาซัคสถาน (Kazakhstan) จากเอเชียกลาง โดยพิจารณาจากเกณฑ์ “STAR” ดังต่อไปนี้

  • Superior GDP Growth : เศรษฐกิจโตสูง อกจากประเทศที่คุ้นเคยและทั่วโลกจับตามองอย่างอินเดีย และเวียดนามที่เศรษฐกิจในปี 2567-2568 จะโตสูงถึงเฉลี่ย 6.3% และ 6.4% ต่อปีตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ IMF ประเมินว่าในช่วงดังกล่าวจะโตเฉลี่ย 3.1% ต่อปีแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดี รวมถึงโรมาเนีย คูเวต และคาซัคสถาน โดยเศรษฐกิจโรมาเนียจะโตเฉลี่ย 3.8% ต่อปีในช่วงดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้ผลดีจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงการลงทุนจากโครงการ Next Generation EU ระหว่างปี 2564-2569 ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ส่วนคูเวตและคาซัคสถาน จะมีอัตราเติบโต ในปี 2567-2568 เฉลี่ย 3.9% และ 4.4% ต่อปีตามลำดับ จากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงและการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 คูเวตและคาซัคสถาน เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับ 8 และ 12 ของโลก ตามลำดับ
  • Thriving Export : มูลค่าส่งออกไปทั้ง 3 ประเทศโตสูง มูลค่าส่งออกไทยไปทั้ง 3 ตลาดเติบโตสูงกว่า 2 หลัก ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวถึง 17% โดยมูลค่าส่งออกไปโรมาเนีย คูเวต และคาซัคสถาน เพิ่มขึ้นถึง 8%, 21% และ 37% ตามลำดับ นับเป็นอัตราสูงเคียงบ่าเคียงไหล่กับตลาดเป้าหมายใหม่ของไทยอย่างซาอุดีอาระเบียที่มูลค่าส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 โตสูงถึง 33% ขณะที่การส่งออกโดยรวมของไทยหดตัว 3.8% และมูลค่าส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และ EU หดตัวทุกตลาด
  • Accelerating Purchasing Power : ตลาดมีกำลังซื้อสูง ายได้ต่อหัวต่อปีของทั้ง 3 ตลาดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของไทยที่ 7,731 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่มาก โดยในปี 2567 โรมาเนียคาดว่าจะมีรายได้ต่อหัวต่อปี 20,214 ดอลลาร์สหรัฐ คูเวต 33,032 ดอลลาร์สหรัฐ และคาซัคสถาน 14,396 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รายได้ดังกล่าวของทั้ง 3 ประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2571 โรมาเนียะเพิ่มเป็น 26,273 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 30% จากปี 2567 คูเวต 33,602 ดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 1.7%) และคาซัคสถาน 16,845 ดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 17%) ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • Room for Opportunity : ไทยยังมีโอกาสส่งออกไปทั้ง 3 ตลาดอีกมาก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปทั้ง 3 ตลาดเพียงราว 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางยานพาหนะ อาหารทะเลกระป๋อง น้ำตาลทราย อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 3% ของการนำเข้าสินค้าดังกล่าวของทั้ง 3 ประเทศ จึงยังมีช่องว่างในการขยายการส่งออกสินค้าไทยไปยังโรมาเนีย คูเวต และคาซัคสถาน ยกเว้นอาหารทะเลกระป๋องในคูเวตที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งหนึ่งแล้ว

นอกจากสินค้ากลุ่มข้างต้นแล้ว ตลาดทั้ง 3 แห่งนี้ยังอาจเป็นตลาดใหม่ที่มาช่วยรองรับสินค้าสำหรับเด็กและวัยทำงาน เช่น ของเล่น ขนมขบเคี้ยว และเครื่องเขียน แทนตลาดเดิมที่อาจมีความต้องการสินค้าดังกล่าวลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยเฉพาะคูเวตและคาซัคสถานที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงาน (15-64 ปี) สูงถึงกว่า 70% ของประชากรรวม และสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 65% อีกทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวมีสัดส่วนประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) ถึง 16-30% สูงกว่าตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วน 12-18%

สุดท้ายนี้ ผมอยากทิ้งท้ายด้วย Quote จาก Tahir Shah นักเขียนชาวอังกฤษ ที่ว่า “To Succeed, you must reach for the stars, and let your imagination find its own path.” -หากต้องการประสบความสำเร็จ คุณต้องตั้งเป้าหมายให้สูงและพยายามค้นหาวิธีเพื่อบรรลุผลที่ต้องการ- ซึ่งผมมองว่าท่ามกลางจักรวาลที่กว้างใหญ่ยังมีตลาดส่งออกที่เป็นดาวดวงใหม่อีกมากมายที่ยังรอการค้นพบ ซึ่งหากมีโอกาสผมจะนำดาวดวงใหม่อื่นๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK