“หนี้ครัวเรือน” เสมือนก้อนกรวดในรองเท้า

“หนี้ครัวเรือน” เสมือนก้อนกรวดในรองเท้า

หนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90.7 เมื่อเทียบต่อ GDP ถามว่าหนี้ครัวเรือนระดับนี้สูงไหม ก็ต้องตอบว่าอยู่ในระดับสูงและเรื้อรัง

เพราะเกินร้อยละ 80 ของ GDP มาประมาณ 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า จะเริ่มมีผลต่อ GDP ระยะยาว พูดง่าย ๆ คือ “ยิ่งหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังเท่าใด จะยิ่งกัดกร่อนการเติบโตของเศรษฐกิจมากเท่านั้น เปรียบเสมือนก้อนกรวดในรองเท้า ทำให้เดินไปข้างหน้าได้ลำบาก”

อันที่จริง หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงมาระยะหนึ่งแล้ว จากระดับที่สูงที่สุดที่ร้อยละ 95.5 ของ GDP ตอนต้นปี 2564 เพราะครัวเรือนนับล้านต้องกู้เงินเพื่อสู้กับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เราเห็นภายนอก เป็นความสัมพันธ์เชิงคณิตศาสตร์ในรูปแบบเศษส่วน โดยหนี้ครัวเรือนเป็นเศษ และ GDP เป็นส่วน ถ้าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของ GDP เราจะเห็นสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้น

ในทางกลับกันถ้าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า GDP เราก็จะเห็นสัดส่วนนี้ลดลง เช่น ปีที่แล้วครัวเรือนเป็นหนี้ 80 บาท แต่มีรายได้ 100 บาท สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้เท่ากับร้อยละ 80

และถ้าปีนี้หนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 90 บาท แต่มีรายได้เพิ่มเป็น 120 บาท สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ก็ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 75 ดังนั้น หากหารายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าหนี้ สัดส่วนนี้จะลดลง แปลว่าความเสี่ยงลดลง ภูมิคุ้มกันก็จะมากขึ้นด้วย

“หนี้ครัวเรือน” เสมือนก้อนกรวดในรองเท้า

ทีนี้ลองมาวิเคราะห์หนี้ครัวเรือนจากข้อมูลภายในบ้าง หากดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการกู้ ซึ่งจัดเก็บโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะพบว่า

  • กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 33.7
  • กู้เพื่อการประกอบธุรกิจ ร้อยละ 17.9
  • กู้เพื่อซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์ ร้อยละ 11.4
  • กู้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 4.2
  • กู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ ร้อยละ 0.6

กลุ่มนี้ผมเรียกว่าการก่อหนี้ที่สร้างหลักประกันให้กับชีวิต รวมแล้วประมาณร้อยละ 67.7 ส่วนอีกกลุ่ม ได้แก่

  • กู้เพื่ออุปโภคบริโภค ร้อยละ 19.2
  • สินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 5.0
  • บัตรเครดิต ร้อยละ 2.8
  • และอื่น ๆ อีกร้อยละ 5.2

กลุ่มนี้ผมเรียกว่า กู้แล้วใช้หมดไป รวมประมาณร้อยละ 32.3

ที่น่าสนใจกว่าแต่ไม่ค่อยมีคนหยิบมาใช้ประโยชน์ คือ ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2566 รอบ 6 เดือนแรก จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า

“หนี้ครัวเรือน” เสมือนก้อนกรวดในรองเท้า

1) จำนวนครัวเรือนที่มีหนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ของครัวเรือนทั้งหมดของประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 22.6 ล้านครัวเรือน สัดส่วนนี้ลดลงจาก 10 ปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 55.8 และ

2) มูลค่าหนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 208,331 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนที่อยู่ที่ 134,900 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้น แม้ว่าจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลง แต่มูลค่าหนี้ต่อครัวเรือนกลับสูงขึ้น

จากข้อมูลชุดเดียวกัน จะพบว่า มูลค่าหนี้สินเฉลี่ยที่ 208,331 บาทต่อครัวเรือน แบ่งเป็น 1) หนี้ในระบบ 205,809 บาทต่อครัวเรือน และ 2) หนี้นอกระบบ 2,522 บาทต่อครัวเรือน

โดยหนี้ในระบบส่วนใหญ่เป็นการอุปโภคบริโภคร้อยละ 37.9 ส่วนหนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.3 ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น ครัวเรือนจะก่อหนี้ในระบบเพื่อสร้างหลักประกัน แต่ก่อหนี้นอกระบบเพื่ออุปโภคบริโภค

แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้เป็นหนี้ หากเราเอาครัวเรือนมาเรียงจากรายได้น้อยไปรายได้มากจะเรียกครัวเรือน 20% แรกว่า ครัวเรือนฐานราก (ยากจน) และ 20% สุดท้ายว่า ครัวเรือนฐานะดี (รวย) จะพบว่า

“หนี้ครัวเรือน” เสมือนก้อนกรวดในรองเท้า

1) อายุ : หัวหน้าครัวเรือนฐานรากมีอายุเฉลี่ยมากที่สุด คือ 59.5 ปี ในขณะที่หัวหน้าครัวเรือนฐานะดีมีอายุเฉลี่ยเพียง 50.1 ปี ห่างกันถึง 10 ปี

2) การศึกษา : หัวหน้าครัวเรือนฐานรากกว่าร้อยละ 70 มีการศึกษาสูงสุดเพียงประถมศึกษาหรือต่ำกว่านั้น ในขณะที่หัวหน้าครัวเรือนฐานะดีกว่าร้อยละ 40 มีการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา

3) อาชีพ : หัวหน้าครัวเรือนฐานรากทำงานอยู่ในภาคการเกษตรถึงร้อยละ 70 อยู่นอกภาคเกษตรร้อยละ 30 ในขณะที่หัวหน้าครัวเรือนฐานะดีทำงานอยู่ในภาคเกษตรเพียงร้อยละ 10 อยู่นอกภาคเกษตรถึงร้อยละ 90

4) การนำเงินกู้ไปใช้ : หนี้สินของครัวเรือนฐานรากเกิดจากการทำการเกษตรร้อยละ 47.5 (อันดับ 1) ในขณะที่หนี้สินของครัวเรือนฐานะดีเกิดจากการซื้อ/เช่าซื้อบ้านและ/หรือที่ดิน ร้อยละ 46.5 (อันดับ 1) และ

5) สัดส่วนการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรายได้ : ครัวเรือนฐานรากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ถึงร้อยละ 112.6 (รายจ่ายทะลุรายได้) ในขณะที่ครัวเรือนฐานะดีมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ 65.1 (รายจ่ายน้อยกว่ารายได้)

ดังนั้น ลักษณะของครัวเรือนที่เป็นหนี้ประกอบด้วย หัวหน้าครัวเรือนมีอายุมาก มีระดับการศึกษาไม่สูง เป็นเกษตรกร กู้เงินเพื่อไปทำการเกษตร และมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

ฉะนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องเริ่มจากสมการการเงินครัวเรือนง่าย ๆ ที่ว่า “รายได้ลบรายจ่าย ถ้าเหลือก็เท่ากับเงินออม ถ้าขาดก็เท่ากับหนี้สิน” ทุกวันนี้เราไปมุ่งเน้นการแก้ปัญหาให้กับคนที่เป็นหนี้แล้ว มากกว่าป้องกันไม่ให้คนเป็นหนี้

“หนี้ครัวเรือน” เสมือนก้อนกรวดในรองเท้า

ผมคิดว่าเราควรป้องกันตั้งแต่ 3 ตัวแรกของสมการ คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างการออม ควบคู่กับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นแล้ว โดยการ

1.เพิ่มรายได้ เช่น

1) บริหารจัดการให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อให้ GDP เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าหนี้ที่เพิ่ม

2) สร้างงาน สร้างอาชีพ ในระบบเศรษฐกิจฐานราก

3) รักษาระดับการจ้างงาน และระดับรายได้ที่มั่นคง และ

4) พัฒนาทักษะ ฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ทั้งนี้ รัฐบาลควรมุ่งเน้นไปที่ครัวเรือนฐานราก 20% แรก (คนจน) ก่อน

โดยการนำฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นมาใช้ เน้นไปที่ครัวเรือนยากจน อยู่ในภาคเกษตร หัวหน้าครัวเรือนอมีอายุมาก การศึกษาไม่มาก และไม่มีเงินเก็บ

2.ลดรายจ่าย เช่น

1) ดูแลและบรรเทาภาระค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน

2) ลดภาระการจ่ายชำระหนี้ควบคู่การขยายระยะเวลา เพราะการจ่ายหนี้คือรายจ่ายรายเดือน

3) ให้ความรู้ในการวางแผนการใช้จ่าย และ

4) วิเคราะห์ภาระรายจ่ายถาวรรายครัวเรือน เช่น ครัวเรือนที่ต้องดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยการนำฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมาสแกนหาว่า ครัวเรือนไหนมีภาระรายจ่ายถาวร เมื่อเจอแล้วก็ให้หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงมาช่วยให้ตรงจุดซึ่งอาจจะช่วยเป็นของ/บริการ แทนเงิน

“หนี้ครัวเรือน” เสมือนก้อนกรวดในรองเท้า

3.เพิ่มเงินออม เช่น

1) ให้ความรู้ทางการเงินและวางแผนการออม

2) ส่งเสริมการออมวัยทำงาน เช่น การใช้อุบายให้ออมผ่านทุก ๆ การใช้จ่าย และ

3) ส่งเสริมการออมตั้งแต่วัยเรียน ปลูกฝังจิตสำนึกให้รักการออม โดยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานเชิงรุกในพื้นที่ เช่น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น

4.แก้หนี้ครัวเรือน เช่น

1) ให้ความรู้เรื่องการก่อหนี้

2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และ

3) นำหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบเป็นรายครัวเรือน โดยการสร้างฐานข้อมูลรายได้ รายจ่าย เงินออม และหนี้ เป็นรายครัวเรือน เพื่อสะดวกในการติดตามและช่วยเหลือ ที่สำคัญต้องเน้นการแก้หนี้ครัวเรือนแบบ Tailor-made ด้วย

จะเห็นว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลรายครัวเรือนจากฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมาออกแบบนโยบายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มเงินออม และแก้หนี้

ฉะนั้น เมื่อหยิบก้อนกรวดออกจากรองเท้าได้แล้ว เศรษฐกิจฐานรากจะเดินได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด