หนี้บัตรเครดิตสหรัฐพุ่ง ‘ทุบสถิติ’ ยอดทะลุกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

หนี้บัตรเครดิตสหรัฐพุ่ง ‘ทุบสถิติ’  ยอดทะลุกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

ยอดหนี้บัตรเครดิตในสหรัฐไตรมาส 3 พุ่งสูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 38 ล้านล้านบาท อัตราผิดนัดชำระหนี้ก็สูงตาม พบ “เจนวาย” เบี้ยวหนี้มากที่สุด

Key Points

  • ยอดหนี้บัตรเครดิตสหรัฐไตรมาส 3 ทุบสถิติใหม่ 1.08 ล้านล้านดอลลาร์
  • ยุคของแพง-ดอกเบี้ยสูง ทำให้คนต้องพึ่งบัตรเครดิตแบบผ่อนจ่ายเดือนต่อเดือน
  • มีรายงานยอดการผิดนัดชำระพุ่งขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคน ‘เจนวาย’

ธนาคารกลางสหรัฐสาขานิวยอร์กเปิดเผยข้อมูลหนี้บัตรเครดิตล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3 ว่า ชาวอเมริกันเป็นหนี้บัตรเครดิต 1.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 38.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐ โดยเพิ่มจากสิ้นไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านดอลลาร์

หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นถึง 1.54 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 5.48 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา

ดงฮุน ลี ที่ปรึกษางานวิจัยเศรษฐกิจของเฟดนิวยอร์ก กล่าวว่า หนี้บัตรเครดิตพุ่งสูงขึ้นมากในไตรมาส 3 โดยสอดคล้องกับยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและจีดีพีที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

 

“เจนวาย” ผิดนัดชำระมากสุด แบกหนี้การศึกษา-รถยนต์

อย่างไรก็ตาม อัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต (Delinquency rate) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในคนยุค “เจนวาย” หรือมิลเลนเนียล อายุระหว่าง 30 - 39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ชำระหรือไม่ชำระให้ตรงตามเวลามากที่สุด โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและสินเชื่อรถยนต์

จากข้อมูลพบว่า หนี้คงค้างในสัดส่วนประมาณ 3% เป็นการผิดนัดชำระหนี้ หรือสูงขึ้นมาจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.7% แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 4.7%

หนี้บัตรเครดิตสหรัฐพุ่ง ‘ทุบสถิติ’  ยอดทะลุกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตพุ่งทะลุ 20%

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมา 11 ครั้งตลอดช่วง 2 ปีมานี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตโดยเฉลี่ยพุ่งขึ้นไปทะลุ 20% ต่อปีแล้ว และเป็นอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ยูเอสเอทูเดย์ได้รายงานอ้างข้อมูลจากเว็บไซต์การเงินส่วนบุคคล แบงก์เรท พบว่า อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตของรายย่อยโดยเฉลี่ยได้พุ่งขึ้นไปถึง 28.93% ในขณะที่ดอกเบี้ยบัตรบางรายยังพุ่งสูงถึงกว่า 33% ไปแล้ว

แม็ต ชูลซ์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อของบริษัทเลนดิ้งทรี กล่าวว่า แม้ดอกเบี้ยจะสูงแต่บัตรเครดิตก็เป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดประเภทหนึ่งเมื่อเทียบกับสินเชื่ออื่นๆ

ทั้งนี้ ซีเอ็นบีซีเคยเปรียบเทียบข้อมูลดอกเบี้ยสินเชื่อกู้ยืมของผู้บริโภคโดยเฉลี่ยในสหรัฐ ระหว่างเดือน มี.ค. 2022 - มี.ค. 2023 เอาไว้เบื้องต้นดังนี้

ดอกเบี้ยสินเชื่อต่างๆ  เทียบ มี.ค. 2022 / มี.ค. 2023

  • สินเชื่อบ้าน 30 ปี - 4.29% / 6.55%
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัย - 4.27% / 7.76%
  • สินเชื่อรถยนต์ใหม่ - 5.23% / 6.95%
  • สินเชื่อรถยนต์มือสอง -  9.11% / 11.03%
  • สินเชื่อบัตรเครดิต - 16.34% / 20.04%
  • สินเชื่อส่วนบุคคล - 10.28% / 10.81%


ยอมผ่อนบัตรแม้ดอกเบี้ยสูง เอาชีวิตรอดยุคเงินเฟ้อ

ในยุคดอกเบี้ยสูงและของแพง ตั้งแต่ราคาอาหาร ค่าน้ำมันและแก๊ส ไปจนถึงค่าเช่า/ผ่อนบ้าน ทำให้มีผู้ถือบัตรเครดิตจำนวนมากขึ้นที่ไม่สามารถชำระหนี้แบบเต็มจำนวนได้ ต้องทยอยผ่อนชำระ หรือถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคุ้มครองด้านการเงินผู้บริโภคพบด้วยว่า หนี้ค้างชำระเกิน 180 วันจนกลายเป็นหนี้เสียนั้น มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นด้วย

หนี้บัตรเครดิตสหรัฐพุ่ง ‘ทุบสถิติ’  ยอดทะลุกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

จากข้อมูลพบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตเกือบ 1 ใน 10 ยอมรับว่าตนเองอยู่ในวังวนของหนี้บัตรเครดิต เพราะไม่สามารถจ่ายหนี้เต็มจำนวนได้ ซึ่งต้องยอมรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรายปีที่สูงมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะหลุดจากวังวนนี้ไป

ทั้งนี้ เฟดนิวยอร์กยังได้เปิดเผย "ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสหรัฐ" ช่วงไตรมาส 3 ด้วยว่า พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 17.29 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 7.86 แสนล้านดอลลาร์

แต่หากเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 นั้นจะพบว่า หนี้ครัวเรือนในสหรัฐเพิ่มขึ้นไปแล้วถึง 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในเวลาแค่ 4 ปีมานี้