'เศรษฐา' ชี้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง ต้องกระตุ้นครั้งใหญ่ ฟื้น 'จีดีพี' ประเทศ

'เศรษฐา' ชี้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง ต้องกระตุ้นครั้งใหญ่ ฟื้น 'จีดีพี' ประเทศ

"เศรษฐา" พร้อมพาประเทศผ่านพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ชี้เศรษฐกิจไทยเปราะบางต้องการกระตุ้นครั้งใหญ่เดินหน้า "แลนด์บริดจ์" สานเมกะโปรเจ็คต์ยักษ์ ย้ำหากสำเร็จจ่อตั้งโรงกลั่นน้ำมันช่องแคบมะละกา ขอความเห็นใจคนเห็นต่าง มองตนด้วยความเป็นธรรม  

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เร่งเครื่อง… ติดสปีดเศรษฐกิจไทย" ในงาน CEO ECONMASS Awards 2023 จัดโดย "สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ" ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตในอัตราต่ำเฉลี่ยปีละ 1.8% ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 76% เป็น 90% สูงสุดติดอันดับท็อปเท็นของโลก

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจากสงครามอิสราเอลช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นเรื่องไกลตัว แต่คนไทย 3 หมื่นคน เลือกที่จะเสี่ยงชีวิตทำงานต่อเพื่อดูแลคนคนในครอบคนัวกว่าแสนคน แม้จะมีสงครามรุนแรงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความพร้อมด้านขนส่งเพื่อจะพาแรงงานไทยกลับประเทศ แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากกลับมาเพราะนายจ้างอิสราเอลให้เงินเพิ่ม ดังนั้น จำนวนเงินประมาณเดือนละ 5 หมื่นบาท ทำให้แรงงานไทยไม่อยากกลับ บ่งบอกถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจของไทย แม้หลายคนบอกเงิน 5 หมื่นน้อยนิดสำหรับเขา แต่ไม่ใช่ของคนกลุ่มนี้  

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยจะต้องทำทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยได้ทำระยะสั้นไปแล้ว อาทิ ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน รวมถึงรถไฟฟ้า 20 บาท ในระยะกลาง และยาว รัฐบาลจะเดินหน้าตกลงเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) การเจรจาสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ที่ไม่ค่อยได้ทำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การที่หลายบริษัทใหญ่ทั่วโลกจะย้ายฐานการผลิตไม่ใช่เรื่องนโยบายขึ้นค่าแรงเฉลี่ยวันละ 400-500 บาท แต่เป็นเรื่องของ FTA มากกว่า

"อยากให้ข้อคิดว่า 10 ปีที่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละที่ 300 บาท ตอนนี้เฉลี่ยที่ 337 บาท ขึ้นมาแค่ 12% ใน 10 ปี หากลูกหลานจบเมืองนอก รับงานเงินเดือนครั้งแรก 3 หมื่นบาท และในอีก 10 ปี เงินเดือนยังอยู่ระดับเท่าเดิมคงรับไม่ได้ ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะต้องเกิดขึ้น"

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตลอด 2 เดือน ที่ตนรับตำแหน่งนายกฯ ได้พานักธุรกิจไทยเดินทางไปพบบริษัทยักษ์ใหญ่จีนกว่า 10 บริษัท มั่นใจว่าการเดินทางครั้งต่อไป จะมีนักธุรกิจทั้งจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าร่วมเดินทาง ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่เหนียมอายในการไปเจรจา เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ซึ่งไม่อยากให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนมองไทยเป็นแค่ขนส่งสินค้า แต่อยากให้มองเป็นฮับ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรม มีโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สูงสุดในภูมิภาคนี้ แสดงถึงศักยภาพที่มี ทั้งเรื่องของการส่งเสริมด้านภาษี บุคลากรที่มีทักษะ โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อินเทอร์เน็ต น้ำ และระบบไฟฟ้า เป็นต้น นักลงทุนมีความมั่นใจในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีทั้ง โรงเรียนนานาชาติ การบริการสาธารณสุขที่มีศักยภาพสูง แต่ต้องออกไปอธิบายว่าไทยมีอะไรดีเพื่อชักจูงใจ

ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทำเพียงแค่ประชานิยม อย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาแต่กลับล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ หากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านนโยบายต่าง ๆ จะไม่สามารถยกระดับจีดีพีได้ และยืนยันว่าเงิน 5.4 แสนล้านบาท เป็นการแจกครั้งเดียวซึ่งอาจจะปรับลดงบประมาณลง จากการวัดว่าคนรวยไม่ควรรับแต่จะวัดจากตรงไหนซึ่งต้องมาดูอีกครั้ง การใช้ในระยะเวลา 6 เดือนเพราะต้องการหมุนเงินให้เร็ว ส่วนระยะทาง 4 กิโลเมตร หรือจะในตำบล หรืออำเภอ อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งไม่ใช้งบผูกพันเป็นการใช้งบหนเดียว

"เราไม่ได้มีแต่โครงการประชานิยมอย่างเดียว ระยะยาวมาก ๆ เรามีโครงการแลนด์บริดจ์ ต้องการกระตุ้นให้มีการสร้างโรงงาน ไม่ใช่แยกดินแดน หลายรัฐบาลอยากให้เกิดมานานแล้ว และเราอยากให้เกิดขึ้นจริง จะช่วยย่นระยะเวลาได้ 6-9 วัน การขนส่งสินค้าต้องผ่านช่องแคบมะละกา ปริมาณสินค้าที่ส่งมาสูง ทำให้มีความหนาแน่น เรือขนส่งสินค้าต้องคอยและอ้อมมาข้างล่าง การขนถ่ายน้ำมัน 60% ต้องผ่านช่องแคบมะละกา หากมีการขุดท่อส่งน้ำมันเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทย ก็อาจจะสร้างโรงกลั่น"

นอกจากนี้ เรื่องของหัวรถจักรจีนที่อยากมาสร้างที่ไทย ไม่ใช่ผลิตเพื่อการรถไฟอย่างเดียว แต่จะสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ถือเป็นเมกะโปรเจคต์ใหญ่อีกโครงการ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่น่ามาลงทุน สร้างฐานการผลิตของสินค้าได้หลายอย่าง

ทั้งนี้ การที่ตนไปเจอบริษัทใหญ่ ๆ และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่จะถึงนี้ จะเชิญนักธุรกิจไทยเดินทางไปก่อน เพื่อจัดสัมนาหารือกับนักธุรกิจข้ามชาติ ให้เกิด Business Matching ล่าสุดได้รับการประสานมาว่า CEO ของแอปเปิล อยากจะเจอด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนเดินสายหารือเพื่อให้ทั่วโลกมาลงทุน และให้รับทราบว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเปิดรองรับการลงทุนทั้งระยะยสั้น กลาง และยาว และไม่ลืมเรื่องบำบัดทุกบำรุงสุขเพื่อประชาชนที่เป็นฐานรากและเป็นหัวใจสำคัญ

"ถ้าติดตามตนด้วยความเป็นธรรม และเข้าใจบริบทที่มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่าตนไม่อยากให้ไทยตกอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ผ่านศักยภาพที่มี ทั้งบุคลากร บริหารจัดการทรัพยากรทั้งหลาย เรามีศักยภาพสูง ขอแค่โอกาส ให้เห็นถึงทุก ๆ ภาคส่วนที่ยังประสบปัญหาอยู่ ทุกภาคส่วนต้องถูกดูแลอย่างเป็นธรรม หน้าที่ตนต้องยกระดับประเทศ ให้ทุกคน ทุกระดับได้อยู่ดีกว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา"