'บิ๊กคอร์ป' ผวาสงครามยืดเยื้อ ราคาพลังงานพุ่งดันต้นทุนธุรกิจ

'บิ๊กคอร์ป' ผวาสงครามยืดเยื้อ ราคาพลังงานพุ่งดันต้นทุนธุรกิจ

“บิ๊กคอร์ปไทย” เกาะติดสงครามอิสราเอล-ฮามาส “ดับบลิวเอชเอ” ชี้หากระยะสั้นไม่ขยายวง ไม่กระทบราคาน้ำมันโลก “พีทีจี” หวังไม่เพิ่มสถานการณ์ขัดแย้ง พร้อมสำรองน้ำมัน “ผู้ค้าน้ำมัน” หวั่นเกิด Worst Case Scenario "ผู้ผลิตไฟฟ้า" ตั้งรับหากก๊าซแพงเพิ่มถ่านหินผลิตไฟฟ้า

สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส เป็นที่จับตามมองของทุกฝ่าย รวมถึงบริษัทไทยที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่มีความกังวลว่าสงครามในอิสสราเอลจะยกระดับเป็นปัญหาของตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากสงครามเกิดขึ้นในระยะสั้นและไม่ได้ขยายวงกว้างผลกระทบก็มีไม่มาก โดยภาคพลังงานอาจมีราคาพุ่งสูงขึ้นในระยะสั้น แต่ก็ไม่รุนแรงมากนัด เนื่องจากยุโรปมีคำสั่งซื้อน้ำมันและแก๊สล่วงหน้าเพื่อเตรียมไว้สำหรับหน้าหนาวช่วงปลายปีแล้ว

“ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพว่าสงครามจะขยายวงกว้างและคิดว่าไม่มีใครอยากให้สงครามใหญ่ขึ้น เพราะสงครามนำมาแต่ความสูญเสีย”

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์นั้นทุกคนทราบดีว่าเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนี้จะมีความรุนแรงเพียงใดและยืดเยื้อหรือไม่ รวมทั้งความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก เพราะมากกว่าครึ่งเป็นการลงทุนจากจีน รองลงมาเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรป

โดยภาคธุรกิจเองก็จับตาสถานการณ์และทุกเหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อคุยกับทีมบริหารว่าจะต้องมีทบทวนแผนการรวมถึงวางกลยุทธ์การลงทุนหรือไม่อย่างไร

สำหรับแนวโน้มเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงคาดว่าจะไหลมาที่ภูมิภาคนี้ ทั้งไทยและเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยกดดันของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ทำให้นักลงทุนขยายฐานการผลิตเข้ามาในอาเซียนเพื่อลดความเสี่ยงในการกีดกันการค้าจากจีนในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่ทยอยเข้ามาลงทุนในไทย

“พีทีจี”หวังไม่เพิ่มสถานการณ์ขัดแย้ง

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า ผลกระทบของสงครามดังกล่าว ถือว่ายังไม่กระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกมากเท่าไหร่ และถือว่ายังพอรับได้ แต่หากบานปลายขึ้นจะต้องดูการสำรองน้ำมัน ซึ่งสัดส่วนการสำรองของประเทศไทยราว 70 วัน โดย PTG ก็อยู่ในสัดส่วนตรงนั้นตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังมีสำรองสำหรับการค้าอีกประมาณ 5-6 วัน

“ทุกคนคงไม่อยากให้ขยายวงกว้างไปกว่านี้ โลกได้เรียนรู้พอสมควรว่าสงครามไม่ใช่สิ่งที่ดี มีแต่สูญเสีย คิดว่าพวกพ้องของทั้งคู่ก็คงจะช่วยกันปรามไม่อยากให้ขยายวง และมองว่าประชาชนน่าจะเข้าใจในแง่การใช้น้ำมันที่อาจจะช่วยกันประหยัด" 

รวมทั้งสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า คือการผลิตไฟฟ้าเพื่อการบริโภคเป็นหลัก เรื่องของการน้ำมันอาจจะต้องประหยัดลง คนไทยได้ผ่านการเรียนรู้เรื่องนี้มาบ้างแล้ว น่าจปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองน่าจะมีมาตรการออกมาเสริม หากกระทบถึงขั้นทำให้ขาดแคลน เหมือนกับช่วงปีก่อนที่ต้องนำเอาน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้าในราคาแพง ที่ทำให้สัดส่วนน้ำมันกระทบบ้างไปบ้าง ซึ่งส่วนตัวยังมองว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่น่าจะไปถึงขั้นนั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลมีประสบการณ์ราคาพลังงานแพงมาแล้ว น่าจะมีการรับมือที่ดี ซึ่งประชาชนยังมีการสนับสนุนด้านราคาจากการลดภาษี และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เข้าดูแล แต่หากถึงจุดที่ราคาพุ่งสูงขึ้นมากทุกคนอาจจะต้องยอมรับความจริง เพื่อไม่ให้ภาครัฐต้องแบกภาระและเป้นหนี้สินให้กับประเทศในวันข้างหน้า ซึ่งส่วนตัวมองว่าราคาโลกจะคงอยู่ที่ระดับ 80-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่คิดว่าจะขึ้นไปถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ผู้ค้าน้ำมันหวั่น Worst Case Scenario

แหล่งข่าวจากผู้ค้าน้ำมัน กล่าวว่า ผู้ค้าน้ำมันต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันภายใต้ปัญหาสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส จะยืดเยื้อขนาดไหน ซึ่งความรุนแรงต่อเนื่องทำให้เสี่ยงลุกลามเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศตะวันออกกลางและอิสราเอล เพราะกลุ่มฮามาสมีพันธมิตรระดับภูมิภาคจำนวนมาก รวมถึงอิหร่าน ซีเรียและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายสหรัฐต่อประเทศตะวันออกกลาง และยังการสนับสนุนอิสราเอล

“หากเกิดความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นเท่าไหร่ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากรทั้งโลก เพราะประเทศตะวันออกกลางถือเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันสำคัญของโลก และเป็นผู้คุมเส้นทางการส่งออกน้ำมัน และอาจส่งผลต่อแรงกดดันด้านอุปทาน และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าขณะนี้ความขัดแย้งถูกจำกัดในพื้นที่อิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่มีโอกาสลุกลามได้”

ทั้งนี้ ไทยมีประสบการณ์รับมือราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย บวกกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนมาแล้ว ดังนั้นหากสงครามครั้งนี้จะกระทบราคาน้ำมันสูงขึ้นอีกครั้ง ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าปริมาณสำรองน้ำมันในไทยมีเพียงพอ อีกทั้ง มองว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการเพื่อควบคุมราคาให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ผู้ผลิตไฟฟ้าตั้งรับ 2 สถานการณ์

แหล่งข่าวจากโรงไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า หากสงครามยืดเยื้อจะกระทบราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกสูงขึ้นทันทีในช่วงแรก แต่ราคาเชื้อเพลิงจะลดลงมาบ้างในลักษณะผันผวน ซึ่งการเตรียมพร้อมแบ่งสถานการณ์ได้ ดังนี้

1.กรณียืดเยื้อในช่วงแรกอาจยังไม่ส่งผลกับราคาเชื้อเพลิงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยราคาเชื้อเพลิงยังขึ้นกับดีมานด์และซัพพลายในช่วงฤดูหนาว

2.กรณีสงครามยืดเยื้อจนบานปลาย กลุ่มประเทศส่งออกพลังงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มนอกวงเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยจะเป็น Worst Case Scenario ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดเพราะราคาพลังงานจะสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ หากเกิด Worst Case Scenario จะกลับไปเหมือนวิกฤติพลังงานปี 2565 จากสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกพลังงานโดยตรง จะกระตุ้นสถานการณ์ให้ตื่นตูม ซึ่งจะไม่ได้ขึ้นจากปัญหาดีมานด์และซัพพลาย ที่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีพลังงาน แต่จะส่งผลถึงราคาที่สูงขึ้น

“หากสงครามยืดเยื้อจะคล้ายสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้นในปี 2565 โดยก๊าซที่ส่งผ่านท่อมาแล้วมีการระเบิดท่อหรือแซงชั่นไม่รับคำสั่งซื้อ และทำให้ปริมาณก๊าซขาดตลาดส่งผลให้ราคากระโดดพุ่งสูงขึ้นผิดปกติ”

แหล่งข่าว กล่าวว่า กลุ่มที่ทำสงครามที่ร่วมด้วยเป็นทั้งผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ ซึ่งไทยนำเข้าก๊าซในปริมาณสูงเพื่อผลิตไฟฟ้า จึงได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น เพราะสัดส่วนการใช้พลังงานและราคาที่สูงขึ้นมาก

แผนสำรองเพิ่มนำเข้าถ่านหินผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ ในกรณีที่เข้าสู่ฤดูหนาวและสงครามยังยืดเยื้อจะยิ่งกระทบ ดังนั้น การรับมือของกลุ่มโรงไฟฟ้าอาจแก้ปัญหาเหมือนวิกฤติปี 2565 โดยเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงจากถ่านหิน จะเห็นได้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้วิธีเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเต็มกำลังพร้อมกับเลื่อนงานซ่อมโรงไฟฟ้าออกหมด พร้อมใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ ผสมผสานเพื่อดึงราคาต้นทุนเชื้อเพลิงไม่ให้พุ่งสูงมากยิ่งขึ้น

“ถ่านหินเป็นต้นทุนถูกที่สุด หากปีที่ผ่านมาไม่มีถ่านหินจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าที่คณะกรรมการกำกกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศ ซึ่งเป็นบทเรียนว่าแม้ถ่านหินถูกรังเกียจเพราะเป็นพลังงานไม่สะอาด แต่หากมองความมั่นคงด้านพลังงานเทียบกับราคานำเข้าเชื้อเพลิงที่สูง อาจต้องเลือกว่าจะยอมจ่ายเงินแพงเพื่อแลกพลังงานสีเขียวได้มากเพียงใด”